Friday, September 18, 2009

ข้อคิดจาก Stiglitz "ขวัญใจประเทศกำลังพัฒนา"

ข้อคิดจาก Stiglitz "ขวัญใจประเทศกำลังพัฒนา"

โดย วรากรณ์ สามโกเศศ มติชนรายวัน
วันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11492

เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา Professor Joseph Stigilitz

นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบิลได้มาพูดที่กรุงเทพฯ

ในโครงการสัมมนาของหนังสือพิมพ์ The Nation

ผมได้มีโอกาสฟังและมีส่วนร่วมในบางส่วนของงานนี้

จึงขอนำสิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกันผู้

"ดังนอกบ้าน" ผู้นี้พูดมาเล่าสู่กันฟัง


ถ้าจะซาบซึ้ง สิ่งที่ Dr.Stiglitz พูด คงต้องทราบ

ประวัติก่อนว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร


Stiglizt เรียนจบจาก MIT เคยสอนหนังสือที่

Oxford/Cambridge/Princeton/Yale/Stanford/

Duke/ MIT ฯลฯ ปัจจุบันสอนที่มหาวิทยาลัย Columbia

เมื่อเร็วๆ นี้ มีงานวิจัย ระบุว่าเขาเป็นนักเศรษฐศาสตร์

ที่งานของเขาถูกอ้างอิงมากที่สุดในโลก


Stiglizt เขียนหนังสือกว่า 19 เล่ม มีบทความ

ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการกว่า 300 บทความ

ปัจจุบันอายุ 66 ปี เขาจัดอยู่ ในกลุ่มความคิด

ที่เรียกว่าเกือบซ้ายสุด ในทางเศรษฐศาสตร์

ของสหรัฐอเมริกา กล่าวคือฝ่ายซ้าย เชื่อในการ

แทรกแซงของภาครัฐ ในการทำงานของระบบ

เศรษฐกิจทุนนิยม (ขวาสุด ก็คือปรมาจารย์

รางวัลโนเบิล Milton Friedman ผู้ล่วงลับไปแล้ว)


Stiglizt เป็นนักเศรษฐศาสตร์ "ขวัญใจประเทศกำลังพัฒนา"

ในขณะที่เขาเป็น Chief Economist ของธนาคารโลก

ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจเอเชียเมื่อ 12 ปีก่อน

เขาวิพากษ์วิจารณ์ บทบาทและวิธีการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ

ของ IMF อย่างหนักว่า วิธีการที่ใช้นั้น เป็นการทำลาย

มากกว่าสร้างสรรค์ จนเขาไม่ได้รับสัญญาจ้างงานเทอมที่สอง

โดยถูกบีบให้ลาออกก่อนครบเทอมแรกเล็กน้อย


และไม่นาน หลังจากการลาออก ในปี 2001

เขาก็ได้รับรางวัลโนเบิลสาขาเศรษฐศาสตร์


ผมจำได้ว่าเมื่อประมาณตอน "ปีเผาจริง" คือ 1998

หรือ 1999 เขาได้ขอเข้าพบนายกรัฐมนตรี ชวน หลีกภัย

และถ้าจำไม่ผิดได้พบคุณอภิสิทธิ์ นายกฯคนปัจจุบันด้วย

และคาดว่า คงมีการติดต่อกับคุณอภิสิทธิ์ อยู่เป็นระยะ

เพราะ Stiglizt เดินทางไปรอบโลกตลอดเวลา เมื่อนายกฯ

อภิสิทธิ์ได้รับเชิญไปประชุม World Economic Forum

ที่ Davos สวิตเซอร์แลนด์ หลังจากเข้ารับตำแหน่งใหม่ๆ

ก็ได้พบกัน และคงเป็นที่มา ของการเป็นที่ปรึกษา

รัฐบาลไทยของอาจารย์ Stiglitz


มีสิ่งแปลก เกี่ยวกับนักเศรษฐศาสตร์ผู้นี้ นั่นก็คือ

เขาไม่เป็นที่รู้จักกว้างขวาง และชื่นชอบนัก

ในสหรัฐอเมริกา ถึงแม้จะได้รับรางวัลโนเบิลก็ตาม

แต่เขา กลับได้รับความนิยมมาก จากคนนอกประเทศ

ไม่ว่ายุโรป อเมริกาใต้ หรือเอเชีย โดยเฉพาะในจีน


เหตุผลหนึ่ง ที่ไม่เป็นที่นิยม ในสหรัฐอเมริกา ก็คือ

เขานำเสนอความคิด ที่ตรงข้าม กับกระแสหลัก

ของคนอเมริกัน กล่าวคือเขาเห็นว่าภาครัฐ

ควรมีบทบาท ในการแทรกแซงเศรษฐกิจมาก

เพราะไม่อาจไว้วางใจกลไกตลาดได้ ซึ่งการเห็นว่า

ภาครัฐที่ดีที่สุด คือภาครัฐที่เล็กสุดเป็นความเชื่อดั้งเดิม

และเป็นที่นิยมกันมากมาตั้งแต่สมัยประธานาธิบดีเรแกน

(ในอังกฤษก็สมัยของนางแทตเชอร์ เป็นนายกรัฐมนตรี)


Stiglizt รู้เรื่องสายสนกลในของนโยบายรัฐบาลเป็นอย่างดี

เพราะในช่วง 1993-1995 เขาเป็นสมาชิกของคณะที่ปรึกษา

เศรษฐกิจของประธานาธิบดีคลินตัน และในปี 1995-1997

ก็เป็นประธานคณะที่ปรึกษาเศรษฐกิจ ก่อนที่จะไปเป็น

Senior Vice President และ Chief Economist

ของธนาคารโลก


เมื่อมาพูดที่บ้านเรา ก็ไม่ผิดหวังเลย Stiglizt

ชี้ให้เห็นว่า วิกฤตเศรษฐกิจโลกครั้งนี้ เป็นผลพวง

จากความล้มเหลว ครั้งยิ่งใหญ่ของระบบตลาดเสรี

ของสหรัฐอเมริกาที่ขาดการควบคุม คนส่วนใหญ่

เข้าใจผิด ว่านโยบายทางเศรษฐกิจ เสรีที่นำโดย

โลกตะวันตก คือความสำเร็จทั้งที่ผลกระทบด้านลบ

ที่เกิดขึ้นกับประเทศต่างๆ นั้นมีผลกว้างไกลมาก

ความเชื่อในเรื่องกลไกควบคุมตัวเองเป็นสิ่งเหลวไหล

ระบบการเงินภายใต้ตลาดเสรี ที่ขาดการควบคุม

ของโลกตะวันตก ทำงานอยู่ได้ก็เพราะการช่วยเหลือ

จากภาครัฐซ้ำแล้วซ้ำเล่า


เขาชี้ให้เห็น ต่อไปว่า วิกฤตเศรษฐกิจโลก

ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ ตลอดจนความล้มเหลวของทุนนิยมเสรี

สไตล์อเมริกัน ทำให้เห็น ถึงความจำเป็นอย่างยิ่ง

ที่จะต้องทำให้ ความสมดุลระหว่างตลาด ภาครัฐ

และผู้มีส่วนได้เสียในสังคมกลับคืนมา เราจะปล่อย

ให้ภาครัฐอยู่เฉยๆ อย่างขาดการควบคุมดูแล

กลไกตลาดไม่ได้เป็นอันขาด


Stiglitz เชื่อในระบบทุนนิยม ที่มีกลไกราคาเป็นหัวใจ

แต่ต้องไม่ใช่ระบบที่ขาดการควบคุมอย่างรัดกุมจากภาครัฐ

เขาเชื่อว่าโลกได้เปลี่ยนแปลงไปมากมาย จนภาครัฐ

ต้องพัฒนากลไกควบคุมโดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบการเงิน

การมีกรอบการควบคุมในระดับโลกเป็นสิ่งจำเป็น

โดยมีการร่วมมือกันโดยนานาชาติ แต่เขาก็ยังไม่เห็น

ความริเริ่มในเรื่องนี้


อีกเรื่องหนึ่งที่ Stiglitz สร้างความสั่นสะเทือน

ในวงการเศรษฐศาสตร์ และเขาได้ทำมานาน

หลายปีแล้ว นั่นก็คือการโจมตีการใช้ GDP

(Gross Domestic Product ผลผลิตมวลรวมประชาชาติ)

เป็นตัวชี้วัดความสุขหรือสวัสดิการ (welfare)

หรือสถานะความอยู่ดี (well-being) ของประชาชน


GDP คือมูลค่าผลผลิตรวม หรือรายได้รวม

ของคนทั้งประเทศในเวลา 1 ปี สามารถชี้วัดกิจกรรม

ทางเศรษฐศาสตร์ แม้แต่ Simon Kuznet ผู้คิดค้น GDP ขึ้น

เมื่อกว่า 70 ปีมาแล้ว ก็บอกว่า ไม่อาจใช้รายได้

เป็นตัวสะท้อนสวัสดิการ อย่างไรก็ดี หลายปีผ่านไป

ด้วยความสะดวกและเผอเรอ นักเศรษฐศาสตร์และสื่อ

เหมาเอาว่า GDP เป็นตัววัดความอยู่ดีหรือวัดสวัสดิการ


ผลพวงที่เกิดตามมา ก็คือความพยายาม ให้มี

อัตราการเจริญเติบโตสูง (ให้ GDP ที่วัด ณ

ราคาคงที่มีค่าเพิ่มขึ้นสูงข้ามปี) กลายเป็นเป้าหมาย

ของรัฐบาลต่างๆ ถึงแม้อัตราการเจริญเติบโต

ของเศรษฐกิจจะช่วยทำให้เกิดการจ้างงานสูง

ประชาชนมีอำนาจสูง แต่ก็ไม่จำเป็นว่าประชาชน

จะมีสถานะความอยู่ดีและมีความสุขมากขึ้น


นักเศรษฐศาสตร์ทั่วโลก เมื่อได้ฟังก็คงจะต้องคิดทบทวน

และน่าจะคล้อยตาม Stiglitz เพราะสิ่งที่พูดนั้นเป็นความจริง

นักเศรษฐศาสตร์ขี้ตู่และหลงผิดมานานว่า GDP ต่อหัวสูง

จะทำให้ประชาชนมีสถานะความอยู่ดีและมีความสุขมากขึ้น

ขณะนี้ Stigitz และพวกได้พยายามเสนอตัวชี้วัดใหม่

ที่จะสะท้อนสถานะความอยู่ดีได้ดีกว่า GDP รั

ฐบาลและผู้คนทั้งหลายจะได้เลิกหลงผิดงมงายกับ

"GDP เป็นบวก" เสียที


GDP มิได้ผิดอะไร มันก็วัดสิ่งที่ Kuznet ตั้งใจให้วัด

คือระดับรายได้รวมของคนทั้งประเทศ นักเศรษฐศาสตร์

ต่อๆ มาต่างหาก ที่ผิด ที่นำมันไปใช้วัดสถานะความอยู่ดี

และความสุขของคนทั้งๆ ที่มันมีความหมายอีกอย่างหนึ่ง


ต่อไปนี้ นักเศรษฐศาสตร์ต้องพิจารณา "ฝัง" GDP

ในฐานะ ตัววัดสถานะความอยู่ดี และการใช้

อัตราการขยายตัว เป็นเป้าหมายของเศรษฐกิจ

และหันไปพิจารณา "GDP ดัดแปลง" ที่กำลังมีผู้คิดค้น

ซึ่งเชื่อว่า จะเป็นตัวชี้ระดับกิจกรรม ของนักเศรษฐกิจ

ที่แม่นยำกว่า ตลอดจน ตัวชี้สถานะความอยู่ดีใหม่

อีกหลายตัว ทั้งที่มีใช้อยู่แล้วและที่กำลังจะตามออกมา


ผมรัก GDP เพราะมันมีประโยชน์ แต่รังเกียจ

การนำมันไปใช้อย่างผิดๆ (ซึ่งครั้งหนึ่งผมก็เป็นหนึ่ง

ในผู้หลงผิดเหล่านั้นด้วย) คงคล้ายกับคำกล่าวที่ว่า

I love mankind, only the people I can"t stand

กระมัง (ผมรักมนุษยชาติ แต่สิ่งที่ผมทนไม่ได้คือมนุษย์)


พวกเราชาวประเทศกำลังพัฒนาดีใจที่มีนักเศรษฐศาสตร์

ที่รักมนุษยชาติมากกว่าผลประโยชน์ของประเทศตัวเอง

แต่เพียงอย่างเดียว ถ้าที่อเมริกาเขาไม่รักท่าน

มาอยู่ที่บ้านเราก็ได้ครับ รับรองมีปัญหาให้ช่วยขบคิด

ไม่ให้เหงามากมาย

คุยกับเซียนหุ้น ::: คิดอย่างวอร์เรน บัฟเฟต : ValueWay

Value Way ฉบับวันที่ 21 กันยายน 2552

คิดอย่างวอร์เรน บัฟเฟต วอร์เรน

บัฟเฟตใฟ้สัมภาษณ์ ล่าสุด เมื่อวันที่ 15 กันยายน

ที่ผ่านมา เกี่ยวกับมุมมอง ต่อภาวะปัจจุบัน

ของวิกฤติเศรษฐกิจ เป็นสิ่งที่น่าสนใจติดตาม

ว่าเขามีความคิดเห็นอย่างไรบ้างในช่วงเวลานี้


ถาม: ตอนนี้ หลายคน บอกว่าภาวะเศรษฐกิจ

ถดถอย ของสหรัฐอเมริกา ได้จบลงแล้ว

คุณมีความคิดเห็นว่าอย่างไรบ้าง


บัฟเฟต : ผมคงไม่รู้คำตอบ ของคำถามนี้

เพราะผมไม่ใช่กูรู ทางด้านเศรษฐศาสตร์

ที่แท้จริง ผมไม่ค่อยได้กังวล ในเรื่องของเศรษฐกิจ

สักเท่าไหร่ จริงๆแล้ว เราเพิ่งซื้อหุ้นเมื่อเช้านี้เอง

แต่เราซื้อหุ้น ไม่ใช่เพราะคิดว่า เรากำลังจะ

หลุดจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ในอีกสามเดือนหกเดือน

หรือหนึ่งปีข้างหน้า เราซื้อหุ้นเพราะมันมีมูลค่าที่ดี

ในระยะยาว ผมว่าข้อผิดพลาดของนักลงทุนส่วนใหญ่

คือมักจะสนใจ ในการทำนายผลประกอบการของบริษัท

มากกว่าสนใจในมูลค่าที่แท้จริง สำหรับธุรกิจของเบริคไชน์แล้ว

เรายังมองไม่เห็นการฟื้นตัวของธุรกิจ แต่ขณะเดียวกัน

ก็ไม่มีสัญญานของการถดถอยเพิ่มขึ้น


ถาม: แสดงว่าคุณยังไม่เห็นสัญญานการฟื้นตัว

ของธุรกิจของเบริ์คไชน์ตั้งแต่ธุรกิจเสื้อผ้า

เฟอร์นิเจอร์จนถึงธุรกิจประกันใช่ไหม


บัฟเฟต : ใช่ เรายังไม่เห็น การฟื้นตัวของธุรกิจเหล่านี้

ยกเว้น ตลาดของอสังหาริมทรัพย์ ยอดขายของธุรกิจอื่นๆ

ยังไม่ได้เพิ่มขึ้นแต่อย่างใด


ถาม: คุณคิดว่าเรากำลังอยู่ในช่วงเศรษฐกิจทรงตัวใช่ไหม


บัฟเฟต : เราไม่รู้หรอกว่า เมื่อไหร่เศรษฐกิจจะฟื้นตัว

ขึ้นมากกว่านี้ ตลาดอสังหาตอนนี้ดูดีกว่าปีที่แล้ว

ยอดขายพรมของเราดีขึ้น แต่ยอดขายเฟอร์นิเจอร์

ไม่ได้กระเตื้องขึ้นเลย


ถาม: วันนี้เป็นวันครบรอบหนึ่งปีที่เลห์แมน บราเดอร์

ล้มละลาย คุณคิดว่า เราได้บทเรียนอะไร

จากวิกฤติคราวนี้บ้าง


บัฟเฟต : เราประสบปัญหาฟองสบู่ขนาดยักษ์

ในตลาดอสังหาริมทรัพย์์และส่งผลกระทบไปทั่วโลก

ผู้คนอยู่ในความเพ้อฝันที่ว่าราคาบ้านมีแต่จะเพิ่มขึ้น

รวมถึงคนในวงการธนาคารและประกันด้วย

แต่ก่อนเราเคยคิดกันว่าเมื่อสถาบันการเงินขนาดใหญ่

สักแห่งล้มลงจะเกิด”ปรากฏการณ์โดมิโน”

และปีที่แล้วเหตุการณ์โดมิโนได้เกิดขึ้นจริงๆ

และเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วมาก ดังนั้นในอนาคต

เราควรจะมีระบบ ที่คอยควบคุม ให้ผู้บริหาร

สถาบันการเงินเหล่านั้น ต้องรับผิดชอบด้วย

ถ้าการบริหารเงินทุนเกิดผลเสียต่อบริษัท

ไม่ใช่ได้ประโยชน์แต่อย่างเดียว


ถาม: แล้วคุณคิดว่าจะทำอย่างที่คุณว่าได้จริงๆหรือ

บัฟเฟต : ผมคิดว่ามันคงไม่ใช่เรื่องง่าย

แต่สิ่งที่น่าจะเปลี่ยนได้ คือการทำให้ผู้บริหาร

สถาบันการเงินเหล่านั้นดำเนินธุรกิจให้ดีขึ้น

โดยมองถึงผลบวกและผลลบของการตัดสินใจ

ในการทำธุรกิจ ไม่ใช่ดูแต่ด้านบวกเพียงอย่างเดียว

เราได้บทเรียนจากการแห่ตามกันของฝูงชนมาแล้ว

ทุกคนคิดว่าราคาบ้านมีแต่จะเพิ่มขึ้น ทุกคนมอง

แต่ด้านดีโดยไม่ได้นึกว่าผลลบของมันเป็นอย่างไร

เราทำตามเพื่อนบ้าน หรือคนอื่นๆที่ทำเงินได้มากมาย

อย่างง่ายๆ พวกเราสร้างฟองสบู่ลูกนี้ขึ้นมาเอง

และเรื่องราวการตามฝูงชนแบบนี้ ไม่ใช่เรื่องใหม่

อะไรเลย….ไม่ใช่เรื่องใหม่เลย



--------เราซื้อหุ้น ไม่ใช่เพราะคิดว่า เรากำลังจะหลุด

จากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ในอีกสามเดือนหกเดือน

หรือหนึ่งปีข้างหน้า เราซื้อหุ้นเพราะมันมีมูลค่าที่ดี

ในระยะยาว ผมว่าข้อผิดพลาดของนักลงทุนส่วนใหญ่

คือมักจะสนใจ ในการทำนายผลประกอบการของบริษัท

มากกว่าสนใจในมูลค่าที่แท้จริง--------


บทความ โดย... วิบูลย์ พึงประเสริฐ

Thursday, September 17, 2009

Money Game : พลังขับเคลื่อนราคาหุ้น

Money Game : พลังขับเคลื่อนราคาหุ้น

ผมมีโอกาสเร็วๆ นี้ เป็นวิทยากร ในเรื่อง

Value creation through valuation

ให้กับตลาดหลักทรัพย์ใหม่ (MAI)

ซึ่งเป็นหัวข้อเกี่ยวกับการเพิ่มมูลค่าหุ้นได้อย่างไร


เป็นที่ทราบดีอยู่แล้วว่า ส่วนใหญ่ของราคาหุ้น

ถูกขับเคลื่อน ด้วยผลประกอบการ หรือกำไร

ของบริษัทนั้นว่า สามารถส่งกับผู้ถือหุ้นเท่าไร

แต่อย่างไรก็ตาม มีหลายกรณีเลยทีเดียว

ที่บริษัทจดทะเบียน มีกำไรแต่เป็นกำไรเทียม

และบริษัทนั้น กลับขาดสภาพคล่อง

ต้องเพิ่มทุนอยู่สม่ำเสมอ


ในวงการนักวิเคราะห์ จะมีเครื่องมือวัดความสามารถ

ในการทำกำไร ของบริษัทจดทะเบียน ได้ดีกว่า

กำไรต่อหุ้น (Earnings per share) ซึ่งเครื่องมือนั้น

ก็คือ ผลตอบแทนต่อเงินลงทุน (Returns on capital employed)


หมายความว่า การลงทุนในหุ้นนั้น จะเพิ่มมูลค่าการลงทุน

ให้กับผู้ถือหุ้น หรือเป็น Enhancing shareholders value

เมื่อบริษัท สามารถลงทุน ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า

ต้นทุนทางการเงิน ซึ่งเป็นผลเฉลี่ยของต้นทุนหนี้

และต้นทุนของเงินลงทุน (Weighted overage cost of capital)


ในทางสูตรทางการเงิน ผลตอบแทนต่อเงินลงทุน

สามารถเขียนเป็นสูตรได้คือ กำไรจากการดำเนินงาน

(Operating profit) หารด้วยทุนดั้งเดิม บวกด้วย หนี้สินสุทธิ

ถ้าตัวเลขที่คำนวณได้มากกว่า 15% ขึ้นไป

ผมถือว่าบริษัทให้ผลตอบแทนในการลงทุนได้ดีเลยทีเดียว

ยิ่งถ้าตัวเลขถึง 20%-30% หุ้นตัวนั้นต้องซื้อเลยทันที

เพราะโดยปกติ ต้นทุนทางการเงินของผู้ถือหุ้น จะอยู่ในช่วง

10-14% หุ้นที่มีผลตอบแทนต่อเงินลงทุน (Return on capital employed)

สูงจะต้องมี 2 ปัจจัยเป็นตัวขับเคลื่อน


ปัจจัยแรก คือ การหมุนของสินทรัพย์ถาวร

หรือ Asset Turnover ประกอบด้วย ยอดขาย

(Sales revenues) หารด้วยสินทรัพย์ถาวร (Fixed assets)

ปัจจัยนี้เป็นปัจจัยที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง

บริษัทที่มีขนาดเล็ก ถ้าสามารถหมุนทรัพย์สินถาวรของตนเอง

ให้เร็วเท่าไร กระแสเงินสดจะเกิดขึ้นเท่านั้น


กรณีศึกษานี้ สามารถดูได้จากหุ้นกลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์

แห่งหนึ่ง ที่เปลี่ยนธุรกิจ จากการขายวัสดุก่อสร้าง

มาเป็นผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ ติดอันดับหนึ่งในห้า

ของบริษัทจดทะเบียนหลักทรัพย์เลยทีเดียว


โดยบริษัทแห่งนี้เริ่มจากมีที่ดินเล็กๆ ผืนหนึ่ง

แล้วได้พัฒนาทาวน์เฮ้าส์ขึ้นมา จากนั้นเอาเงินที่ได้

จากการขายทาวน์เฮ้าส์มาพัฒนาที่ดินต่อ

และปีหนึ่งทำ 4-5 โครงการ โดยอาศัยการขาย

และการหมุนของสินทรัพย์ที่เร็ว และเป็นลักษณะ

เงินต่อเงิน ในที่สุด Market capitalization ของบริษัทนี้

ได้เพิ่มขึ้นจากไม่กี่ร้อยล้านบาท มาอยู่ที่ 5-6 พันล้านบาท

เลยทีเดียว สุดท้ายความมั่งคั่งของผู้ถือหุ้นก็เพิ่มขึ้น


ปัจจัยที่สอง กำไรจากการดำเนินงานสุทธิ (Operating profit margin)

จากสองปัจจัยดังกล่าว ถ้าเรายกตัวอย่างเช่น บริษัทต้องการ

มีเป้าหมายที่มีผลตอบแทนต่อการลงทุนที่ 30%

ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงพอดู บริษัทสามารถทำได้ดังนี้

คือกรณีที่หนึ่ง กำไรจากดำเนินงานสุทธิ 10%

และมีการหมุนของสินทรัพย์ 3 ครั้งต่อปี หรือ


กรณีที่สอง กำไรจากดำเนินงานสุทธิ 5%

และมีการหมุนเวียนของสินทรัพย์ 6 ครั้งต่อปี หรือ


กรณีที่สาม กำไรจากดำเนินงานสุทธิ 2%

แต่ต้องมีการหมุนเวียนของสินทรัพย์ 15 ครั้งต่อปี


ในกรณีต่างๆ เหล่านี้ เราสามารถสรุปได้ว่า

ถ้าเราพบหุ้นตัวไหนที่มีกำไรจากดำเนินงานสูง

และมีการหมุนสินทรัพย์ถาวรที่สูง หุ้นตัวนั้น

มีความน่าสนใจในการลงทุนมากเลยทีเดียว


ขอขอบคุณ :

http://www.bloggang.com/viewblog.php?id=hoonvi&date=20-04-2006&group=5&gblog=54

รอยเตอร์ชี้ 4″ความเป็นไปได้”จากการประท้วงของ “เสื้อแดง”วันเสาร์นี้

เอเจนซี-รัฐบาลไทย ประกาศใช้พระราชบัญญัติ

การรักษาความมั่นคงอันเข้มงวดอีกครั้งหนึ่งเมื่อวานนี้ (15)

เพื่อเปิดโอกาสใ ห้ทหารสามารถเข้ามาควบคุม

การชุมนุมของกลุ่มผู้สนับสนุน พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร

ในช่วงสุดสัปดาห์นี้ และสำนักข่าวรอยเตอร์

ได้วิเคราะห์ถึงสถานการณ์ที่อาจจะเป็นไปได้

สืบเนื่องจากการประท้วงครั้งนี้


กฏหมายความมั่นคง ฉบับดังกล่าว

เปิดทางให้ใช้ทหาร เพื่อจำกัดความเคลื่อนไหว

ของกลุ่มคนเสื้อแดง และสามารถดำเนินการ

กับกลุ่มผู้ชุมนุมได้อย่างรวดเร็ว หากมีเหตุรุนแรง

ระหว่างการประท้วงซึ่ง “กลุ่มคนเสื้อแดง”

จัดขึ้นเนื่องในโอกาสครบรอบ 3 ปี

ที่ พ.ต.ท. ทักษิณถูกยึดอำนาจ โดยที่แกนนำ

กลุ่มคนเสื้อแดง ประกาศจะดำเนินการชุมนุม

ขับไล่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี

คนปัจจุบัน โดยสงบ และไม่ใช้ความรุนแรง

เพื่อยั่วยุให้เกิดเหตุวุ่นวายก็ตาม


สำนักข่าวรอยเตอร์ โดยนายมาร์ติน เพตตี้

ได้จัดทำรูปแบบ สถานการณ์ที่อาจจะเป็นไปได้

รูปแบบต่างๆ สืบเนื่องจากการชุมนุมในวันเสาร์(19)นี้

รวมทั้งสิ้น 4 รูปแบบ ดังนี้คือ


**เกิดการประท้วง แต่ผ่านพ้นไปโดยไม่มีเหตุรุนแรง**

นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ระบุว่า การชุมนุมประท้วงโดยสงบ

น่าจะมีความเป็นไปได้มากที่สุด เนื่องจากในเวลานี้

รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งเข้ามาบริหารประเทศ

ได้9เดือน กำลังประสบกับปัญหา ความแตกแยกภายใน

อย่างหนัก ทั้งจากบรรดาพรรคร่วมรัฐบาล และความแตกแยก

จากภายในพรรคประชาธิปัตย์ ของตัวนายกรัฐมนตรีเอง

ทำให้นักวิเคราะห์ มองว่า ลำพังปัญหาภายใน

ของรัฐบาลชุดนี้ ก็ได้ทำให้ อนาคตของรัฐบาลง่อนแง่น

อย่างถึงที่สุดแล้ว ขณะที่ทางกลุ่มคนเสื้อแดง

ซึ่งมีชื่อเรียกตัวเองอย่างเป็นทางการว่า

กลุ่ม “ แนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการแห่งชาติ ”

ก็ได้ตระหนัก ถึงความผิดพลาดของตน จากการยั่วยุ

ให้เกิดเหตุรุนแรง เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา

ซึ่งทำลายความน่าเชื่อถือ ของกลุ่มคนเสื้อแดงไป

ดังนั้นการชุมนุม ในวันเสาร์นี้ น่าจะผ่านไป

โดยความเรียบร้อย รูปแบบความเป็นไปได้เช่นนี้

จะเป็นรูปแบบที่แทบไม่ส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินเลย


**การประท้วงรุนแรง ทหารกระโดดเข้ามา**

พวกวิพากษ์วิจารณ์ “ทักษิณ” รวมทั้งกลุ่มพันธมิตร

ประชาชนเพื่อประชาธิปไตยหรือ “ กลุ่มคนเสื้อเหลือง ”

ระบุว่า อดีตนายกรัฐมนตรีผู้นี้จะต้องพยายามทำทุกวิถีทาง

เพื่อให้เกิดความรุนแรง จากการชุมนุมในวันเสาร์นี้

เพื่อโค่นล้มรัฐบาลของ นายอภิสิทธิ์ลงให้ได้

เพราะเวลาของเขาเหลือน้อยเต็มทีแล้ว


ขณะเดียวกัน ปัญหาความขัดแย้งระหว่าง

นายอภิสิทธิ์ กับพวกนายตำรวจระดับสูงหลายราย

จากกรณีการสั่งปลดพล.ต.อ. พัชรวาท วงศ์สุวรรณ

ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ก่อนการเกษียณอายุราชการ

เพียงไม่กี่วัน ก็อาจทำให้ต้องดึงทหาร ต้องเข้ามา

มีบทบาท ในการควบคุมสถานการณ์การชุมนุม

ทั้งนี้พรรคเพื่อไทย ที่ได้รับการสนับสนุน

จากพ.ต.ท. ทักษิณ และทำหน้าที่เป็นกลไก

ทางรัฐสภา ให้กับกลุ่มคนเสื้อแดง ก็ได้ออกมา

เตือนว่า การประกาศใช้กฎหมายความมั่นคง

ของรัฐบาล อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความรุนแรง

เนื่องจากอาจมีผู้ประท้วง ที่หัวรุนแรงบางกลุ่มไม่พอใจ

หรืออาจมีกลุ่มคน ที่ถูกว่าจ้างให้เข้ามาเป็นมือที่ 3

เพื่อก่อความวุ่นวาย จนทางทหารอาจต้องสลายการชุมนุม

หรือแม้กระทั่งการทำรัฐประหาร ถ้าหากสถานการณ์

ออกมาในรูปแบบนี้จริงๆ ตลาดหลักทรัพย์ และเงินบาท

ของไทยน่าจะถูกการเทขายอย่างรุนแรง


อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์มองว่า ไม่น่าจะมีเหตุรุนแรง

เกิดขึ้น เนื่องจากการปะทะกัน จะไม่เป็นผลดีกับทุกฝ่าย

ที่เกี่ยวข้อง “ในปัจจุบัน ไม่มีกลุ่มพลังทางการเมืองสำคัญๆ

ของประเทศกลุ่มใดเลย ที่มีความสามารถหรือกระทั่งเจตนารมณ์

เพื่อสร้างความสับสน ให้แก่สถานการณ์ น่าเป็นห่วง

ที่เราเผชิญอยู่ในทุกวันนี้”

โรแบร์โต ฌอร์เรรา-ลิม นักวิเคราะห์แห่งยูเรเชียกรุ๊ป

ให้ความเห็น “ในทัศนะของเราแล้ว นี่จะเป็นแค่เกม

แห่งการรอคอย(ว่าใครจะอดทนกว่ากัน)”


**มีการปะทะเกิดขึ้น อภิสิทธิ์ประกาศยุบสภา**

จากปัญหา แรงกดดัน นานัปการ ที่มีต่อรัฐบาล

ของนายอภิสิทธิ์ ทั้งจากกลุ่มคนเสื้อแดง,

ความแตกแยกในพรรคร่วมรัฐบาล,

ความไม่พอใจ ของประชาชนต่อการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ,

วิกฤตทางการเมือง , การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส

ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009, และปัญหา

ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

ทำให้เกิดกระแสข่าวเรื่องการยุบสภาหนาหูขึ้น

ถึงแม้ 2 แกนนำพรรครัฐบาล คือ ประชาธิปัตย์

และภูมิใจไทย ซึ่งน่าจะเป็นฝ่ายเสียเปรียบ

ในการเลือกตั้ง จึงคงพยายามหลีกเลี่ยงไม่เลือกวิธีนี้


นักวิเคราะห์มองว่า การยุบสภาจะไม่ส่งผลดีต่อตลาด

อีกทั้งอาจมีผล ทำให้ความขัดแย้งทางการเมือง

ของไทยรุนแรงมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะทำให้เกิดผลกระทบ

อย่างใหญ่หลวง ต่อเศรษฐกิจของไทยที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 2

ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมีมูลค่าโดยรวม

กว่า 260,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้


**เกิดการปะทะกันรุนแรง ทหารทำรัฐประหาร**

แม้ข่าวลือ เรื่องที่ทหารจะยึดอำนาจกำลังก่อตัวขึ้น

แต่สำหรับประเทศไทย ซึ่งเคยเกิดการทำรัฐประหาร

มาแล้ว 18 ครั้งตลอดระยะเวลา 77 ปี นับตั้งแต่ที่

ประเทศไทย เปลี่ยนแปลงการปกครอง เข้าสู่ระบอบ

ประชาธิปไตย จึงถือว่าเรื่องนี้ “ไม่ใช่เรื่องใหม่” แต่อย่างใด


อย่างไรก็ตาม การที่รัฐบาลของนายอภิสิทธิ์

ไม่ได้มีความบาดหมางกับทางกองทัพ และทางกองทัพเอง

ก็ยังไม่ได้ส่งสัญญาณใดๆ ว่า จะก่อรัฐประหารอีกรอบ

ทำให้นักวิเคราะห์เชื่อว่าจะไม่เกิดการยึดอำนาจ

เพราะทหาร คงจะไม่เสี่ยง ที่จะทำให้เสถียรภาพ

ของประเทศไทยต้องถูกทำลายในภาวะเช่นนี้


แต่ถ้าเกิดการรัฐประหาร ขึ้นอีกครั้ง ก็จะถือเป็นรูปแบบ

ความเป็นไปได้ที่เป็นมิตรกับตลาดน้อยที่สุด และอาจทำ

ให้เกิดปรากฏการณ์ ของการดิ่งอย่างสุดขั้วของตลาด

เช่นเดียวกับช่วงหลังเกิดการรัฐประหารครั้งก่อน

ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อมาตรการแก้ปัญหาเศรษฐกิจต่างๆ

และจะถือเป็นความล้มเหลว ของรัฐบาลไทย

ที่เคยให้คำมั่น จะสร้างความแข็งแกร่งให้กับประชาธิปไตย

ในประเทศและจะขจัดการคอร์รัปชั่น

ขอขอบคุณ :
http://www.wiseknow.com/blog/2009/09/16/3419/

Wednesday, September 16, 2009

สมการความรวย..สง่า ตั้งจันสิริ เซียนหุ้นวัย 32


จากเงินก้อนแรก 500,000 บาท เล่นหุ้น 4 ปี
วันนี้เขามีพอร์ตแล้ว 50 ล้าน ชายหนุ่มวัย32
'โนเนม' แต่ไม่ 'โนวิชั่น' สง่า ตั้งจันสิริ ...
แท้ที่จริง ตระกูลตั้งจันสิริ ไม่ใช่โนบอดี้ในวงการธุรกิจ
ทายาทหนุ่มวัย 32 ปี อาสา พาไปรู้จักเคล็ดลับ
ความสำเร็จของตัวเอง ที่วันนี้มีพอร์ตเล่นหุ้น
เป็นตัวเป็นตนแล้ว 50 ล้านบาท แม้ไม่มาก
แต่ถ้าดูจากจุดเริ่มต้นที่ 5 แสนบาท กับระยะเวลา
เพียง 4 ปี หนุ่มคนนี้ถือว่าฝีมือ "ไม่ธรรมดา"
สง่า ตั้งจันสิริ มีพื้นฐานครอบครัว อยู่ในระดับ
เศรษฐีของเมืองไทย บางคนอาจจะคุ้นๆกับนามสกุล
"ตั้งจันสิริ" กับ "จันศิริ" ใน บมจ.ไทยยูเนียน
โฟรเซ่น โปรดักส์ หรือ ทียูเอฟ ใช่เลย!
เขาเป็นหลานชาย ไกรสร จันศิริ ประธานกรรมการ
และผู้ก่อตั้งทียูเอฟ บริษัทผู้ส่งออกปลาทูน่ากระป๋อง
รายใหญ่ระดับโลก และมีศักดิ์เป็นญาติผู้น้อง
ธีรพงศ์ จันศิริ ซีอีโอทียูเอฟ ปัจจุบัน สง่านั่งแท่น
บริหารบริษัท โบรกเกอร์ประกันภัยของตัวเอง
ที่ไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจครอบครัว
และรักการลงทุนในตลาดหุ้นเป็นชีวิตจิตใจ
"ตกลงครับ..แต่พอร์ตผมไม่ได้ใหญ่มากเท่าไรนะ
ไม่รู้จะน่าสนใจหรือเปล่า" ชายหนุ่มวัย 32 ปี
ยอมเปิดตัวกับกรุงเทพธุรกิจ BizWeek
เรานัดหมายกับเขา ที่ร้านกาแฟใต้ อาคาร
เอสเอ็ม ทาวเวอร์ ย่านสนามเป้า โดยมี
"ก๋อย" ยุทธพงษ์ เสรีดีเลิศ เซียนหุ้นร้อยล้าน
"หลานชาย" ชนะชัย ลีนะบรรจง เป็นคนชักนำ
"นิด" ชื่อเล่นของสง่า เพียงกาแฟแก้วแรก
หย่อนวางลงบนโต๊ะนิดก็รีบออกตัวก่อนว่า
"หุ้นทุกตัวที่ผมไปลงทุน ไม่เกี่ยวอะไรกับธุรกิจ
ครอบครัวแม้แต่น้อยเป็นเพียงการลงทุนส่วนตัว"
นิดบอกว่า แม้จะเติบโตมา กับธุรกิจอาหารทะเล
ของครอบครัวตั้งแต่เด็ก แต่ขอเลือก ที่จะเป็นผู้บุกเบิก
ธุรกิจของตัวเอง หลังจบปริญญาตรี ที่เอแบค
ด้านประกันภัย ก็มาเปิดบริษัทโบรกเกอร์ประกันภัย
ซึ่งบริหารมาแล้ว 8 ปี และยังร่วมลงขันกับเพื่อน
ขายเครื่องมือแพทย์ ธุรกิจรับสแกนหนังสือ
และมีร้านกาแฟของตัวเอง
ก้าวแรกในตลาดหุ้นของสง่า เพิ่งเริ่มเมื่อประมาณ 4 ปี
ที่ผ่านมา โดยเข้ามา ในช่วงที่ตลาดหุ้นกำลังบูม
ตอนนั้นคือ "อยากลอง" และได้รู้จักกับผู้ใหญ่
ในวงการหลักทรัพย์ แนะนำให้ลองลงทุนดู บอกว่า
ดีกว่าเงินฝาก โดยปัจจุบันมีพอร์ตลงทุนอยู่ที่
บล.เคที ซีมิโก้ เป็นหลัก
สำหรับเงินลงทุนก้อนแรก นิดเล่าว่าเริ่มจากเงิน
500,000 บาท เริ่มนับหนึ่งจากหุ้นบลูชิพพิมพ์นิยม
อย่าง BANPU, PTT, PTTEP และแน่นอนต้องมี
TUF ด้วยเพราะเป็นธุรกิจของครอบครัว
โดยมี ยุทธพงษ์ เสรีดีเลิศ "เพื่อนซี้" ที่เรียนด้วยกัน
มาตั้งแต่ป.1 เป็นที่ปรึกษา และทุกวันนี้หัวข้อหลัก
ในการสนทนา ระหว่างเพื่อน ก็คือเรื่องหุ้น
ที่ฝังอยู่ในสายเลือดโดยไม่รู้ตัว
วิธีการลงทุน ของเซียนหุ้นรายนี้ เขาจะแบ่งพอร์ตลงทุน
ออกเป็น "สามส่วน" คือ สั้น-กลาง-ยาว
ถ้าเป็นหุ้นบลูชิพชั้นดี "เกรดเอ" ถ้าถือต้นทุนต่ำ
ก็จะถือยาว 2-3 ปี โดยจะดูที่ Dividend Yield
ถ้าอยู่ประมาณ 5-6% ก็จะถือไว้กินปันผล
ส่วนหุ้น TUF จะไม่แตะ (ขาย) เลยเพราะปันผลดีมาก
อีกตัวที่ชอบคือ CSL ที่ทำธุรกิจเป็นเงินสด
แถมจ่ายปันผลดีปีละ 2-3 ครั้ง
ส่วนพอร์ต "ระยะกลาง" จะเน้นหุ้นกลุ่มแบงก์
กับอสังหาริมทรัพย์ ถ้าเป็นพอร์ต "ระยะสั้น"
จะเน้นเล่นหุ้นหวือหวาโดยจะ "เล่นตามข่าว"
(หุ้นมีสตอรี่) ถ้าเล่นสั้นจะ "ไม่ถือนาน"
แต่บางครั้งจะสลับตัวเล่น "กลาง-สั้น"
ตามความเหมาะสม
สำหรับหุ้นกลุ่มที่เล่นเป็นประจำ ยังคงเป็น
"พลังงาน" กับ "แบงก์" ที่ผ่านมาได้กำไรมาตลอด
ส่วนหุ้นที่โปรดปรานเป็นพิเศษ อันดับหนึ่งคือ TUF
เพราะโตมากับธุรกิจนี้ ปัจจุบันถือ TUF อยู่ในพอร์ต
"มากที่สุด" โดยหุ้นบางส่วนได้รับโอนมาจาก
"คุณพ่อ" ตอนก่อนแต่งงาน มีต้นทุนที่ 10 บาท
แต่ไม่เคยขายและไม่คิดจะขายด้วย
อีกตัว ที่ชื่นชอบเป็นพิเศษคือ PS เพราะเป็นบริษัท
ที่ตอบโจทย์ชนชั้นกลาง ที่อยากมีบ้านได้ดีที่สุด
และมั่นใจในตัว "เจ้าของ" ทองมา วิจิตรพงศ์พันธุ์
ที่ถือหุ้นไว้จำนวนมาก ถ้าหุ้นตกเขาย่อมเจ็บกว่าแน่นอน
ทำให้มั่นใจเต็มร้อยว่าเลือกหุ้นไม่ผิด
"ปี 2551 ผมเล่นหุ้นพฤกษา เรียลเอสเตทถึง 20 รอบ
แต่พอปีนี้ราคาเริ่มสูง ก็ขายออกไปรอเล่นรอบใหม่"
ผ่านมา 4 ปี พอร์ตลงทุน ของสง่าโตขึ้นมา
อยู่ในระดับ 50 ล้านบาท สิ่งที่เซียนหุ้นรุ่นใหม่
ต้องท่องเป็นประจำคือ "อย่าโลภมาก"
หุ้นทุกตัวที่เข้าไปลงทุนเขาจะตั้ง "เป้าหมายกำไร"
เมื่อถึงเป้าก็ต้อง "ขาย" โดยปกติจะตั้งไว้ที่ 20%
และตั้งจุด Stop Loss (หยุดขาดทุน) ไว้
ที่ลง 10% ต้องตัดขายทันที
"ที่เล่นมาเคย Cut Loss หนักสุด 3 ล้านบาท
ไม่งั้นขาดทุนแน่ๆ 6-7 ล้านบาท แต่ถ้ารีบขายก่อน
อาทิตย์หนึ่งจะขาดทุนแค่ล้านเดียว ประสบการณ์
เลยสอนผมว่าต้องกล้าตัดสินใจ(ถึงขาดทุนก็ต้องกล้าขาย)"

เซียนนิดที่มีพอร์ตไม่นิดบอกว่า จากประสบการณ์
ถ้าอยากได้กำไรเยอะๆ ต้องเล่นหุ้นขนาดกลางหรือเล็ก
ที่มี "พื้นฐานดี" (ไม่ใช่หุ้นปั่น) และจะได้แรงบวก
ต้องเป็นธุรกิจกำลังจะ "เทิร์นอะราวด์" หุ้นพวกนี้เวลาขึ้น
มีโอกาสได้กำไรเกิน 20% แต่ถ้าเป็นหุ้นขนาดใหญ่
จะมีโอกาสแบบนี้ไม่บ่อย สำหรับรอบนี้ที่ได้กำไร
เป็นเนื้อเป็นหนังคือหุ้น BCP และ THCOM
กำไรประมาณ 50% แต่ตอนนี้ขายไปหมดแล้ว
"การลงทุนในตลาดหุ้นคือการอยู่กับอนาคต
อย่าดูแต่ปัจจุบัน ต้องมองไปข้างหน้า" เซียนนิดย้ำ
ที่สำคัญ ในตลาดหุ้น อะไรก็ไม่แน่นอนทั้งนั้น
จึงต้องมี "เงินสดติดกระเป๋า" ไว้ตลอดเวลา
ถ้ามีเงิน 100 บาท ส่วนตัวจะพยายามเก็บเงินสด
ไว้ 40% เสมอๆ เพราะโอกาสซื้อ “ของถูก”
ไม่ได้มีมาบ่อยๆ เขายกสัจธรรมที่สุดแสน
จะเบสิคแต่ใช้ได้ดีเสมอว่า “จงเข้าซื้อเมื่อหุ้นตก
และจงขายเมื่อหุ้นขึ้น” ง่ายๆ อย่างงี้แหละ!

"ผมมองว่านักลงทุนไทยส่วนใหญ่ใจไม่เย็นพอ
และบางคน เอาเงินร้อนมาเล่นด้วย ของผมจะใช้
เงินเย็นมาลงทุน และไม่เคยซี้ซั้วจะค่อยๆ ดูทีละตัว"

ส่วนหลักการจำกัดความเสี่ยง ง่ายๆ คือ อย่าไปลงทุน
ในสิ่งที่ไม่รู้ หรือรู้น้อยกว่าคนอื่น จะต้องรู้
ให้มากกว่าคนอื่นหนึ่งก้าวเสมอ
ข้อจำกัด ของตลาดหุ้นไทย คือตลาดเล็ก
และคนมีเงินเยอะๆ สามารถคุมหุ้นได้
นักลงทุน ที่รู้ทีหลังค่อนข้างเสียเปรียบ
ก่อนลงทุนจำเป็นต้อง "เช็คข่าว"
ต่อสายคุยกับนักวิเคราะห์ คุยกับคนในวงการ
หาข่าวก่อนลงทุนจะปลอดภัย เราไม่จำเป็น
ต้องรู้มากที่สุดแต่ต้องไม่น้อยกว่าคนอื่น

สง่าบอกว่า พอร์ตของเขาโตมากช่วงปลายปี 2551
ช่วงที่เกิดวิกฤติซับไพร์ม ก่อนหุ้นจะตกใหญ่
เมื่อเดือนตุลาคม 2551 นักลงทุนที่ตามข่าว
จะได้กลิ่นไม่ดี มาก่อนแล้ว อยู่ที่ว่า ใครจะตัดสินใจ
อย่างไร ส่วนตัวเองเลือกที่จะ "เผ่น"

"ผมคุยกับรุ่นพี่ที่เล่นหุ้นมา 20 ปี เขาบอกว่าถ้าเป็นเขา
จะขายหุ้นทิ้ง ผมก็ฟังข่าว วิเคราะห์ต่อแล้วจึงตัดสินใจ
Cut Loss ยอมขายขาดทุน ตอนนั้นเจ็บหนักที่สุด 3 ล้านบาท
แล้วถือเงินสดรอ จากนั้นก็นั่งดูหุ้นตัวใหญ่ๆ อย่าง PTT, BANPU
ราคาตกเอาๆ ผมเอาเงินสดที่มีอยู่มารับไว้ หลังจากนั้นไม่นาน
หุ้นที่ซื้อไว้บางตัวราคาขึ้นเป็นเท่าตัว ช่วงนั้นถือว่า
ทำให้พอร์ตโตมากที่สุด"
นอกจากลงทุนหุ้นไทยแล้ว สง่ายังแบ่งเงินส่วนหนึ่ง
ไปลงทุน ผ่านกองทุนผสมสัญญาประกันชีวิต
บริหารโดย เอไอจี ที่ประเทศฮ่องกง มีนโยบายลงทุน
ในสินทรัพย์ต่างๆ ที่ไม่ใช่หุ้น เช่น น้ำมัน ทองคำ ฯลฯ
จุดประสงค์เพื่อเก็บออมเงินระยะยาวเอาไว้ให้ "ไกลมือ"
นอกจากนี้ ยังนำกำไรไปซื้อสินทรัพย์ระยะยาว
เช่น ซื้อที่ดิน และซื้อคอนโดมิเนียมให้เช่า
สง่าตั้งเป้าหมายชีวิตว่า พอถึงอายุ 55 ปี ก็จะเกษียณตัวเอง
จากงานประจำ หลังจากนั้น จะใช้เงินเก็บที่สะสม
มาจากการทำธุรกิจส่วนตัวและการลงทุนใช้ชีวิตอย่างสบายๆ

อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จในตลาดหุ้น ต้องมีทั้งสีขาว
และสีดำ มีขึ้นและมีลง แต่คนที่จะยืนบนเวทีนี้ได้
ในระยะยาวสำคัญที่สุด "ต้องมีวินัย"

"ถ้าขาดทุนต้องรับกับมันได้ ถ้ากำไรก็อย่าดีใจกับมันมาก
เห็นหุ้นวิ่งอย่าแหกกฎของตัวเอง เหมือนกฎหมาย
ถ้าใครไม่ทำตามมันก็มีบทลงโทษรออยู่ ถ้าคิดว่า
ทำตามไม่ได้ก็อย่าตั้งกฎให้ตัวเอง" ง่ายๆ แต่ไม่ง่าย
สง่า ตั้งจันสิริ เซียนรุ่นใหม่ที่กำลังไต่ระดับมา
พร้อมกับวิกฤติ..ลูกไม่ไกลต้นของครอบครัวทียูเอฟ
Custom Search

Followers