Monday, January 18, 2010

พรอตรายย่อยรายหนึ่งเริ่มจากหลักแสนเป็น 5000 ล้านภายในแปดปี

คำแปลใน youtube นี้คือ He says;

"My recent shopping is only two Wiis.

I am not interested in spending money.

The cash that I have now is only 30,000 yen.

I don't see cash as much as possible.

Because cash obstructs my cool judgment.

I don't eat breakfast. A cup noodle is the

best for my lunch, because it is easy and

fast to eat. Market's rest time is too short

to take lunch, and full stomach makes me sleepy."


ทรัพย์สินของเขาเติบโตดังนี้

ปี 2000 1.6 ล้านเยน
สิ้นปี 2000 2.8 ล้านเยน
สิ้นปี 2001 61 ล้านเยน
สิ้นปี 2002 96 ล้านเยน
สินปี 2003 270 ล้านเยน
สิ้นปี 2004 1,150 ล้านเยน
สิ้นปี 2005 8,000 ล้านเยน
สิ้นปี 2006 15,700 ล้านเยน
สิ้นปี 2007 18,500 ล้านเยน
มกรา 2008 19,000 ล้านเยน

---Young Japanese Super Trader---

นักลงทุนรายย่อยคนนี้พึ่งจะอายุ 29 ปี แต่ทว่า

พอร์ตของเขามีมูลค่าสูงถึง 19,000,000,000 เยน

หรือประมาณ 5,700,000,000 บาท


หนุ่มคนนี้คือ Kotegawa Takashi

โดย มีชือเรียกอีก 2 ชื่อ คือ BNF
และ J-com otoko (นายเจคอม)


BNF เป็นชื่อที่เขาใช้เรียกตัวเอง
เวลาเขียนตอบกระทู้ในเว็บไซด์ 2 channel
(คล้ายกับ พันทิพย์ บ้านเรา)

ส่วน J-com otoko นั้น เป็นชื่อที่นักข่าวเรียกเขา
จากการที่เขาสามารถทำกำไร จากการเทรดหุ้น
j-com ประมาณ 600 ล้านบาท ภายในเวลาสิบกว่านาที
และทำให้เขามีชื่อเสียง รู้จักไปทั่วเพียงข้ามคืน


ชื่อของ BNF เป็นข่าวครั้งแรกเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2005

เมื่อผู้รับชอบการซื้อขายหุ้นของ Mizuho Securities

ออกคำสั่งขายหุ้นของบริษัท เจ คอมผิดพลาด จาก

“ ราคา 6 แสน 1 หมื่น เยน / จำนวน 1 หุ้น” เป็น “

ราคา 1 เยน / จำนวน 6 แสน 1 หมื่น หุ้น ”


และเขาสามารถทำกำไร ได้ทันทีกว่า 600 ล้านบาท
ภายในเวลา สิบกว่านาที

หลังจากเหตุการณ์ครั้งนั้น หนุ่มน้อย BNF
( ขณะนั้น อายุ 27 ) ปรากฏโฉมเป็นครั้งแรก
ในรายการทีวี 'The Dawn of Gaia'
เมื่อวันที่ 28 กุมภา 2006

หนุ่มคนนี้เกิดเมื่อวันที่ 5 มีนา 1978 ที่จังหวัด ชิบะ
เริ่มต้นเทรด จากการนำเงินที่สะสมได้ จากการ
ทำงานพิเศษ เมื่อสมัยเรียนมหาวิทยาลัยปี 3
ประมาณ 1 ล้าน 6 แสนเยน หรือ ประมาณ 5 แสนบาท
ไปเริ่มซื้อขายหุ้นเมื่อปี 2000 และ เมื่อถึงปี 2008
มูลค่าพอร์ตของเขา มีมูลค่าถึง 1 หมื่น 9 พัน ล้านเยน
หรือ ประมาณ 5,700 ล้านบาท

สไตล์การลงทุนของเขานั้น เขาใช้การเทรด
แบบ สวิงเทรด โดยเขาจะไม่สนใจค่า pe ฯลฯ เลย

เกี่ยวกับสไตล์การเทรดของเขานั้น เขาคุยเล่าให้ฟังว่า
สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ความเคยชินที่เกิดจากประสาทสัมผัส
และการมองภาพรวมโดยทั่วไปให้ทะลุประโปร่ง
อย่างไรก็ดี ถึงแม้ว่าสไตล์การลงทุนของเขาจะเป็น
แบบเดย์เทรด / ซื้อขายระยะสั้น เมื่อมีคนถามเขาว่า
ต่อไปแนวโน้มของหุ้นจะเป็นอย่างไร เขาตอบว่าไม่รู้
เพราะว่า ไม่เคยมองหุ้นในระยะยาวเลย

แต่ว่า เมื่อ พย.2007 เขาเล่าให้ฟังว่า เขาเริ่มรู้สึก
ถึงข้อจำกัดของการซื้อขายระยะสั้นและ มีแผนการ
ที่จะใช้เงินประมาณ 8 พันล้านเยน หรือ ประมาณ
2400 ล้านบาท ไปลงทุนระยะยาวในหุ้นต่างประเทศ

สำหรับไลฟ์สไตล์ของนาย BNF นั้น
นอกเหนือจากการซื้อบ้านหรูรถหรูให้กับพ่อแม่เขา
และ ซื้อคอนโดหรูกลางกรุงโตเกียว เพื่อสำหรับ
เทรดหุ้นให้ตนเองแล้ว เขาไม่ได้ใช้จ่ายหรูหราอะไรเลย
และ มักจะเก็บตัวอยู่ในห้องคนเดียว อ่านการ์ตูน
เล่นเนต โดยไม่สุงสิงกับใคร

เขาเล่าให้ฟังว่า เพื่อที่จะสามารถรวบรวมสมาธิ
ในการเทรดหุ้นได้เต็มที่ ดังนั้นมื้อกลางวันของเขา
จะกินเพียงแต่มาม่าเท่านั้น เพราะว่าจะไม่อิ่มเกินไป
หลายคนเรียกเขาว่าเป็น โอตะกุ

แต่สำหรับนายBNF แล้ว ไม่ว่าจะเป็นคำปรามาสใดๆก็ตาม
เขาไม่เคยแสดงอาการโกรธออกมา เพียงแต่แค่พูดสั้นๆว่า
“อีกแล้วเหรอ” เท่านั้น โอตะกุเป็นมนุษย์พันธ์ใหม่ของญี่ปุ่น
เป็นคนที่บ้าอะไรสักอย่างมากๆ เช่น บ้าเกมส์ บ้าการ์ตูน บ้าเนต

โอตะกุจะมีลักษณะที่สังเกตได้ง่าย คือ พวกเขาจะไม่สนใจแฟชั่น
จะแต่งตัวง่าย ใส่เสื้อยืด กางเกงยีนส์ พูดคุยกับคนปกติ ไม่รู้เรื่อง
แต่ในกลุ่มโอตะกุด้วยกันแล้ว สามารถคุยในเรื่องราวที่พวกเขาสนใจได้
อย่างออกรสชาติ เงินที่ได้มาส่วนใหญ่ จะหมดไปกับสิ่งที่พวกเขาสนใจ
และส่วนใหญ่มัก ไม่สนใจเพศตรงข้าม ทำให้ไม่มีแฟน

ขอขอบคุณข้อมูลจาก :
http://www.stock2morrow.com/forums/showthread.php?t=9675

Monday, January 4, 2010

มองแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2010

เศรษฐศาสตร์จานร้อน : ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ
กรุงเทพธุรกิจ วันจันทร์ที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2552

ภาครัฐบาลและภาคเอกชนต่างคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทย

ในปี 2010 จะขยายตัวประมาณ 3-4% แปลว่าการหดตัว

ที่เกิดขึ้นในปีนี้ (3%) จะตีกลับมาในปีหน้าหรืออีกนัยหนึ่ง คือ

เศรษฐกิจในปี 2010 จะกลับไปใกล้เคียงกับปี 2008 ในภาพใหญ่

(วัดจากระดับของจีดีพี) แต่จะต่างกันไปในแต่ละภาคธุรกิจ

และอุตสาหกรรม เช่นปี 2010 หนี้สาธารณะจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก

(จาก 38% เป็นกว่า 50% ของจีดีพี) ดังนั้น ผู้ประกอบการที่ขายสินค้า

และบริการให้กับรัฐบาล ก็น่าจะฟื้นตัวได้ดีกว่าส่วนอื่นๆ เป็นต้น


โดยรวมแล้วการที่เศรษฐกิจจะขยายตัวเพียง 3-4% นั้น

ไม่น่าจะเป็นเรื่องยากเพราะในอดีตเศรษฐกิจไทยสามารถ

ขยายตัวได้ 6-7% ต่อปีอย่างต่อเนื่องในปีที่เศรษฐกิจโลก

ฟื้นตัวเช่นที่คาดการณ์กันเอาไว้ในปีหน้านั้น เศรษฐกิจไทย

น่าจะสามารถขยายตัวได้ 5-6% แต่ทำไมการคาดการณ์

ส่วนใหญ่จึงต่ำกว่าระดับดังกล่าวอย่างมาก คำตอบคือ

ความไม่แน่นอนว่ารัฐบาลจะแก้ปัญหามาบตาพุดให้สำเร็จ

ลุล่วงโดยเร็วจะเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนการลงทุน

ของไทยในอุตสาหกรรมต้นน้ำ ซึ่งย่อมจะส่งผลต่อการดึงดูด

การลงทุนในอนาคตในอุตสาหกรรมปลายน้ำต่างๆ

และจะส่งผลเป็นตัวต่อธุรกิจเกี่ยวเนื่องอื่นๆ ทั้งการก่อสร้าง

การจ้างงาน การใช้จ่ายของประชาชน ฯลฯ


ในอีกด้านหนึ่ง คือ ปัญหาความแตกแยกทางการเมือง

ซึ่งจะนำไปสู่ความขัดแย้งกันทั้งในสภา (การอภิปรายไม่ไว้วางใจ)

และนอกสภา (การเดินขบวนต่อต้านรัฐบาลของคนเสื้อแดง)

ตลอดจนการจะต้องปรับ ครม. ที่ล้วนจะทำให้ขาดความชัดเจน

ซึ่งจะส่งผลให้นักลงทุนต้องการเพิ่มความระมัดระวัง และชะลอการลงทุน


อย่างไรก็ดี ดูเสมือนว่าปัญหาต่างๆ ของไทยนั้น

น่าจะเกิดขึ้นในช่วงปลายเดือนมกราคมถึงต้นเดือนกุมภาพันธ์

และหากมีปัญหายืดเยื้อก็น่าจะมีความชัดเจนตั้งแต่กลางปี

เป็นต้นไป ดังนั้น จึงเป็นไปได้ว่าครึ่งหลังของปีหน้า

จะมีความชัดเจนมากกว่าครึ่งแรกของปี ทั้งนี้ ผมมิได้ต้องการ

จะขัดแย้งกับคำทำนายของโหรหรือหมอดูแต่อย่างใด กล่าวคือ

แนวโน้มเศรษฐกิจไทยมีความเป็นไปได้มากว่าครึ่งแรก

จะมีความเสี่ยงและมีความไม่แน่นอนสูงจากปัจจัยลบภายในประเทศ

แต่ครึ่งหลังเหตุการณ์สามารถคลี่คลาย ทำให้บรรยากาศดีขึ้นตามลำดับ


ตรงกันข้ามกับเศรษฐกิจโลก ซึ่งนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เห็นว่า

การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะยิ่งมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้นในปี 2010

แม้ว่าจะยังต้องพึ่งพาแรงกระตุ้นจากภาครัฐ พร้อมกับนโยบาย

การเงินที่ผ่อนคลายอย่างต่อเนื่อง โดย เศรษฐกิจประเทศ

พัฒนาแล้วจะกระเตื้องขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ (คือ เศรษฐกิจสหรัฐ

ขยายตัว 3% ในขณะที่เศรษฐกิจยุโรปและญี่ปุ่นขยายตัว 1-2%)

และเศรษฐกิจประเทศกำลังพัฒนาหลัก อาทิเช่น จีนและอินเดีย

จะขยายตัว 7-10% แต่ข้อสังเกตของผมคือ การขยายตัวดังกล่าว

หากเป็นจริงก็จะทำให้เกิดเงื่อนไขในครึ่งหลังของปี ว่า

นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ จำเป็นจะต้องเริ่มผ่อนคลาย

ลงมากน้อยเพียงใด หมายความว่า สำหรับประเทศพัฒนาแล้ว

ที่ธนาคารกลางลดดอกเบี้ยลงใกล้ศูนย์ ก็จะต้องเริ่มปรับนโยบาย

เป็นขึ้นดอกเบี้ย และลดมาตรการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าระบบ

(quantitative easing) อาทิเช่น เมอร์ริล ลินช์ คาดการณ์ว่า

ธนาคารกลางยุโรปจะต้องปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้น 0.25%

ในเดือนมิถุนายน ในขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐก็กำหนดว่า

จะยกเลิกมาตรการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าระบบเกือบทั้งหมด

(เว้นแต่การซื้อตราสารหนี้ค้ำประกันด้วยอสังหาริมทรัพย์ค้ำ

มูลค่าประมาณ 1 ล้านล้านดอลลาร์) ภายในครึ่งแรกของปี 2010

นอกจากนั้น ยังเห็นได้ว่าผลตอบแทนหรือดอกเบี้ยพันธบัตร

ระยะยาวของสหรัฐ กำลังปรับขึ้นไปเรื่อยๆ ซึ่งเป็นการสะท้อน

การคาดการณ์ของนักลงทุน ว่า เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง

ทำให้เชื่อได้ว่าอัตราเงินเฟ้อจะปรับตัวเพิ่มขึ้นในอนาคต


สำหรับประเทศกำลังพัฒนาหลัก อาทิเช่น จีน และอินเดีย

ก็จะเห็น เศรษฐกิจขยายตัวอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องใน

ครึ่งแรกของปี 2010 เพราะการฟื้นตัวของการส่งออก

(จากการฟื้นตัวของอุปสงค์จากประเทศพัฒนาแล้ว) ประกอบ

กับแรงกระตุ้นภายในประเทศที่ยังมีแรงเหวี่ยง (momentum)

ต่อเนื่องจากปีนี้ แต่การขยายตัวที่ร้อนแรงดังกล่าวจะกลาย

เป็นความกังวลใจว่าปัญหาฟองสบู่ของราคาสินทรัพย์กำลัง

ก่อตัวขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากประเทศจีนยังตรึงค่าเงิน

หยวนกับดอลลาร์ที่อัตราปัจจุบัน หมายความว่าในครึ่งหลัง

ของปีหน้านักลงทุนอาจหันมาเป็นห่วงว่ารัฐบาลจีน

(และรัฐบาลประเทศเอเชียอื่นๆ) จะต้องออกนโยบายเพื่อ

ชะลอเศรษฐกิจมากน้อยเพียงใด และมาตรการดังกล่าว

จะกระทบต่อตลาดหุ้นมากน้อยเพียงใด


ในทำนองเดียวกันในครึ่งแรกของปีหน้าการฟื้นตัว

ของเศรษฐกิจของประเทศพัฒนาแล้ว จะเป็นที่พึงพอใจ

ของนักลงทุน แต่ในครึ่งหลังของปีก็อาจมีความเห็น

แบ่งกันเป็น 2 ฝ่าย โดยฝ่ายหนึ่งเชื่อว่าภาครัฐจะต้อง

กระตุ้นเศรษฐกิจต่อไป เพราะการฟื้นตัวของภาคเอกชน

ยังไม่มั่นคงเพียงพอ และไม่อยากให้กลัวปัญหาเงินเฟ้อ

แต่อีกฝ่ายหนึ่งจะเป็นห่วงเกี่ยวกับปัญหาเงินเฟ้อ และ

การใช้จ่ายเกินตัวของภาครัฐ ทั้งนี้ สิ่งที่จะเป็นเครื่องตัดสิน

คือข้อมูลในขณะนั้น อาทิเช่น การเร่งตัวขึ้นของเงินเฟ้อ

และปัญหาฟองสบู่ในราคาสินทรัพย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง

ในภูมิภาคเอเชีย จึงสรุปได้ว่าแนวโน้มของการลงทุน

ในภาพรวมของโลกจะสดใสมากในครึ่งแรกของปี

แต่ความไม่แน่นอนและข้อกังวลต่างๆ น่าจะมีเพิ่มขึ้น

ในครึ่งหลังของปี ทั้งนี้ จะยังมีความเสี่ยงข้างเคียงอื่นๆ

อาทิเช่น ปัญหาความสามารถในการชำระหนี้ของประเทศ

ขนาดเล็ก อาทิเช่น ดูไบและกรีซ และปัญหาการกีดกัน

ทางการค้าจากประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งเผชิญกับปัญหา

การว่างงานที่รุนแรงและต่อเนื่อง โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา

ที่จะมีการเลือกตั้งในปลายปีหน้าและอังกฤษ ซึ่งนายกรัฐมนตรี

น่าจะต้องประกาศยุบสภาเลือกตั้งทั่วไปในปี 2010 เช่นกัน

แนวโน้มเศรษฐกิจไทย ปี 2553

คอลัมน์ นอกรอบ โดย นิตินัย ศิริสมรรถการ dr.nitinai@gmail.com

ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 33 ฉบับที่ 4171









ปีวัว (2552) กำลังจะผ่านไป ปีเสือ (2553) กำลังจะเข้ามา

เป็นยังไงกันบ้างครับ ท่านผู้อ่าน ปีที่กำลังจะผ่านไปนี้ช่างมี

ความผันผวน หรือเรื่องไม่คาดฝันทางเศรษฐกิจกันเยอะ

เหลือเกินใช่ไหมครับ ตั้งแต่ปลายปีก่อนคาบเกี่ยวจนถึงต้นปีนี้

โลกเรา ซึ่งรวมถึงประเทศไทยเราต้องเจอกับวิกฤตเศรษฐกิจ

ครั้งยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์โลกครั้งหนึ่งเลยทีเดียว

เมื่อประกอบกับปัญหาทางการเมืองที่รุมเร้าภายในประเทศเรา

เป็นการเฉพาะแล้วทำให้เศรษฐกิจประเทศไทยเราทรุดดิ่งเหว

กันไปตาม ๆ กัน ...พอมาถึงราวเดือน เม.ย. 52 อยู่ ๆ ก็ดูเหมือน

เศรษฐกิจโลกรวมถึงเศรษฐกิจบ้านเรากลับดีขึ้นอย่างผิดหูผิดตา

เล่นเอาหักปากกาเซียนไปหลายคนว่าวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่

ดูเหมือนว่าจะยืดเยื้อยาวนาน น่าจะจบลงในระยะเวลาอันสั้น

จนหลาย ๆ ฝ่ายออกมาบอกว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

จะเป็นรูปตัว V กล่าวคือ โลกเราจะมีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

อย่างรวดเร็ว...พอมาปลายปีเรื่องราวกลับพลิกผันอีก...

กรณี Dubai World ที่มีการเลื่อนการชำระหนี้ก็ดี หรือกรณี

ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศกรีซที่ทำให้บริษัทจัดอันดับ

ความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) ต้องลดอันดับความน่าเชื่อถือ

กรีซลงก็ดี กลับชี้ให้เห็นกันว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ว่า

คงไม่ใช่เป็นรูปตัว V เสียแล้วกระมังครับ.. ตอนนี้แบงก์ชาติ

บางประเทศก็เริ่มขึ้นดอกเบี้ยนโยบายกันแล้ว (ซึ่งแสดงว่า

เศรษฐกิจประเทศเขาเริ่มร้อนแรงจนต้องมีนโยบายการเงิน

มาลดความร้อนแรงทางเศรษฐกิจ และ/หรือ เงินเฟ้อ)

ในขณะที่บางประเทศ (เช่นกรณี ดูไบ หรือกรีซ) ยังมีสัญญาณ

การทรุดตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง... อ้าว สรุปแล้วมันยังไง

กันแน่ครับ เศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจบ้านเรามันจะฟื้นหรือ

ไม่ฟื้นกันแน่ครับ ? นั่นสิครับ นี่คงเป็นคำถามใหญ่สำหรับเศรษฐกิจ

ปีหน้าครับ เศรษฐกิจโลกมีการเปลี่ยนแปลงมากหลังจากวิกฤตครั้งนี้

แถมปัจจัยภายในประเทศเราก็มีแต่ความไม่แน่นอน ปีหน้าคงผันผวน

เอาเสียมาก ๆ จริง ๆ ครับ


เศรษฐกิจโลกเปลี่ยนแปลงยังไงหรือครับ...ลองมาดูกันครับ...

ประเทศอเมริกาต้นตอของปัญหาวิกฤตการเงินโลกครั้งนี้

ทุกคนก็ต้องยอมรับว่า เขาเป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ

ของโลก โดยมีขนาดเศรษฐกิจราว 1 ใน 5 ของเศรษฐกิจโลกทั้งหมด

ความมั่งคั่งของประเทศนี่ ไม่ต้องพูดถึงครับ ก่อนจะเจอวิกฤต

เขามีความมั่งคั่งรวมถึง 64 ล้านล้านดอลลาร์ สรอ. หรือประมาณ

2.1-2.2 พันล้านล้านบาท ขนาดเศรษฐกิจไทยเราประมาณ 10 ล้านล้านบาท

นั่นหมายถึงว่าเท่ากับ GDP ไทยเรา 200 กว่าปีครับ ...

พอเขาเจอวิกฤตความมั่งคั่งของเขาหายไป 14 ล้านล้านดอลลาร์ สรอ.

หรือเท่ากับ GDP ของเขาประมาณ 1 ปีพอดี...

เจอวิกฤตครั้งนี้ คนอเมริกันจนลงเยอะเลยนะครับ...ปกติเมื่อก่อน

ถ้าเรารวย ๆ อยู่ เคยใช้เงินฟุ่มเฟือย พออยู่ ๆ เราจนขึ้นมา

เราจะเป็นยังไงกันบ้างครับ ? ที่เคยฟุ้งเฟ้อก็ต้องเลิกฟุ้งเฟ้อกันใช่ไหมครับ ..

คนอเมริกันก็เป็นคนครับ ก็ไม่ต่างจากเรา เมื่อก่อนเค้ามีรายได้ 100 บาท

เขาออมกันประมาณบาทเดียว ตอนนี้ต่างแล้วครับ หลังจากวิกฤต

เขาออมกัน 4-5 บาทแล้วครับ (สูงสุดในรอบราว 30 ปี) ก็เป็นธรรมดาครับ

ความมั่งคั่งหายไปมาก ก็ต้องเริ่มอดออมสร้างฐานะกันใหม่ครับ



ออมกันเยอะ ก็หมายความว่าบริโภคกันน้อย...การบริโภคที่น้อยลงนี้

จะทำให้เราคาดหวังว่าเราจะส่งออกไปอเมริกาได้มากเหมือนเดิม

คงไม่ได้แล้วหละครับ...พวกรวยเก่าไม่ใช่เฉพาะประเทศอเมริกา

แต่หมายถึงในอีกหลาย ๆ ประเทศ ทั้งอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น ที่เคยเป็น

ตัวขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจโลกที่สำคัญหมดสตางค์กันแล้ว

และคงจนกันไปอีกนานครับ...แล้วอย่างนี้ ตอนนี้เศรษฐกิจโลก

มันฟื้นขึ้นได้ยังไงครับ ? คำตอบกำปั้นทุบดินก็คือ โลกเราต้องมี

ผู้นำทางเศรษฐกิจใหม่น่ะสิครับ...ประเทศเกิดใหม่ (Emerging Market

: EM) ครับ ที่นำเศรษฐกิจโลกอยู่ตอนนี้

(ดูกราฟ)


บทความวิจัยของศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธ.ไทยพาณิชย์

(SCB EIC) เขาทำไว้น่าสนใจครับ SCB EIC ได้วิเคราะห์ไว้ว่า

ตั้งแต่หลังวิกฤตการเงินโลกเป็นต้นไป Landscape ทางเศรษฐกิจโลก

จะไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว กลุ่มประเทศที่จะเป็นผู้นำในการฟื้นตัว

ของเศรษฐกิจโลกหลังวิกฤตเศรษฐกิจ จะเป็นกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา

(Emerging Markets) มากกว่ากลุ่มประเทศที่พัฒนา (Developed Markets)

ครับ การเปลี่ยนแปลงใน Lanscape นี้จะทำให้มีการเปลี่ยน

ในกลุ่มอุตสาหกรรมส่งออกทั้งสินค้าและบริการของไทย

จาก Electronic Products และ Garment ที่เคยนำตลาด

จากการนำเข้าของกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว มาเป็นอุตสาหกรรม

Electronic Products, Rubber และ Auto Parts ที่จะส่งออก

ไปยังประเทศกำลังพัฒนามากขึ้น ในทางกลับกัน พึงต้องจับตา

มองการปรับตัวของอุตสาหกรรมบางอุตสาหกรรมที่เคยพึ่งพิง

ตลาดประเทศกลุ่มที่พัฒนาแล้วและไม่สามารถเจาะกลุ่มตลาด

กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาได้ เช่น โรงแรมระดับ 4-5 ดาว

ที่ในปีหน้า (2553) อาจจำเป็นต้องมีการแข่งขันด้านราคาสูง

เพื่อกระตุ้นอัตราการเข้าพักที่สูงขึ้น โดยเราคาดว่าในปีหน้า (2553)

ราคาห้องพักของโรงแรมระดับ 4-5 ดาวจะปรับตัวลงมาในระดับ

ที่สูงกว่าโรงแรมระดับ 3 ดาวไม่มากอย่างในปัจจุบันครับ...

ในทางกลับกัน ก็มีอุตสาหกรรมบางอุตสาหกรรมที่เมื่อก่อน

ประเทศพัฒนาไม่ได้ต้องการมากนัก แต่ปัจจุบันเป็นที่ต้องการ

ของประเทศกำลังพัฒนาอย่างมาก เช่น น้ำมันดิบ ยางพารา

ชิ้นส่วนอุปกรณ์รถยนต์ อุตสาหกรรมพวกนี้จะเป็นอุตสาหกรรม

ดาวเด่นทั้งด้านยอดขายและราคา...ลองจับตาดูกันไว้นะครับ


ลองมาดูเศรษฐกิจในประเทศบ้างนะครับ สำหรับเศรษฐกิจ

ภายในประเทศแล้ว SCB EIC คาดว่าปี 2553 เศรษฐกิจไทย

จะขยายตัวได้ในระดับ 3.5% - 4.0% โดยมีโอกาสที่จะขยายตัว

อยู่ในระดับประมาณ 3.7% ซึ่งสิ่งที่น่าสังเกต คือในการขยายตัว

3.7% นี้จะมาจากแรงขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรม และภาคที่เกี่ยว

เนื่องกับอุตสาหกรรมถึง 1.8% และ 0.8% ตามลำดับ...

ตรงนี้น่าสนใจครับ เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมมีสัดส่วนสูงถึง 40%

และภาคที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมมีสัดส่วนถึง 25% ในเศรษฐกิจไทย

จึงไม่น่าแปลกที่การขยายตัวของเศรษฐกิจปีหน้าที่ระดับประมาณ 3.7%

จึงจะถูกขับเคลื่อนจาก 2 ภาคนี้รวมกันถึง 2.6% ดังนั้นเราคงต้องจับตา

ดูปัญหามาบตาพุดซึ่งจะส่งผลต่อภาคอุตสาหกรรมอย่างใกล้ชิด

ต่อไปนะครับ ถ้าปัญหานี้ยืดเยื้อหรือขยายวงกว้าง โอกาสที่เศรษฐกิจไทย

จะทรุดตัวไม่เป็นไปอย่างที่หลาย ๆ ฝ่ายคาดก็มีมากครับ


ลองมาดูด้านราคากันบ้างครับ เงินเฟ้อพื้นฐาน (Core Inflation)

เฉลี่ยในปี 2553 คาดว่าจะอยู่ที่ 1.0% ส่วนเงินเฟ้อทั่วไป

(Headline Inflation) เฉลี่ย 2.5% โดยคาดว่าเงินเฟ้อทั่วไป

จะปรับตัวสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนในเดือนธันวาคม 2552 น่าจะไต่ระดับ

ขึ้นไปถึงราว ๆ ใกล้เคียง 4% และน่าจะอยู่ในระดับประมาณนี้

ไปจนถึงไตรมาสที่ 2 ของปี 2553 ทั้งนี้เนื่องจากปัจจัยหลัก

2 ประการได้แก่

1. ดัชนีราคาผู้บริโภคในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2552 อยู่ในระดับต่ำ

และ 2.การปรับขึ้นของราคาน้ำมัน ซึ่งคาดว่าหลังปีใหม่น่าจะเริ่มปรับตัว

เพิ่มขึ้นอีกรอบหนึ่งครับ


สำหรับอัตราดอกเบี้ย ก็คาดว่า ธปท.ยังคงน่าจะคงนโยบาย

อยู่ในระดับนี้ไปจนถึงครึ่งหลังของปี 2553 ทั้งที่ล่าสุด

ธนาคารแห่งประเทศไทยคาดการณ์เงินเฟ้อค่อนข้างสูง

ในช่วงไตรมาสนี้ และไตรมาสหน้า จากเหตุผลที่กล่าวข้างต้นครับ

แต่จากการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินครั้งที่ผ่านมา

ยังไม่มีสัญญาณการปรับตัวของอัตราดอกเบี้ยนโยบายในอนาคต

อันใกล้แต่อย่างใด ซึ่งโดยปกติแล้วหากแบงก์ชาติรู้ว่าเงินเฟ้อ

กำลังจะมา เขาก็จะปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มขึ้นเพื่อสกัดกั้น

เงินเฟ้อไว้ก่อนครับ แต่นี่แบงก์ชาติคงเห็นว่าเงินเฟ้อที่กำลังจะเกิดขึ้น

ในช่วงไตรมาสนี้ ไตรมาสหน้าจะเป็นเหตุการณ์ชั่วคราวกระมังครับ

จึงไม่มีความกังวลมากถึงกับต้องปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว


สุดท้ายครับ คงหนีไม่พ้นแนวโน้มค่าเงินบาท...แม้ช่วงเดือน ธ.ค. 2552 นี้

ค่าเงินดอลลาร์ สรอ. จะเริ่มกลับมาแข็งตัวขึ้นบ้างจากความกังวลต่าง ๆ นานา

ทั้งกรณีปัญหา ดูไบเวิลด์ ปัญหาประเทศกรีซ รวมไปถึงการที่เริ่มมีเงินไหลกลับ

เข้าประเทศสหรัฐ เพื่อไปซื้อสินทรัพย์ที่เริ่มขายจากกระบวนการประนอมหนี้

แต่ก็ยังคาดว่าค่าเงินดอลลาร์ สรอ. หลังจากปีใหม่ไปจนตลอดทั้งปียังอยู่ใน

ทิศทางอ่อนค่าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ สรอ. นี้เอง

จะส่งผลให้แนวโน้มค่าเงินบาทยังคงมีทิศทางแข็งค่าต่อเนื่องไปในปี 2553

ทั้งนี้เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐที่ต่ำจนเกือบเป็นศูนย์

ประกอบกับการอัดฉีดเม็ดเงินอย่างมหาศาลจากธนาคารกลางสหรัฐ

รวมทั้งการขาดดุลงบประมาณการคลังในระดับสูงในปีที่ผ่านมา และจะต่อเนื่อง

ไปยังปีที่กำลังจะมาถึงครับ


สรุปกันเลยดีกว่าครับ...สรุปแล้วปีหน้าแม้ GDP ไทย

จะพลิกฟื้นกลับจากการติดลบกว่า -3.0% มาเป็นบวก

เกือบ 4.0% ได้ แต่ต้องยอมรับครับ ว่าเศรษฐกิจไทย

พึ่งพิงแรงขับเคลื่อนจากไม่กี่แหล่ง ?. แหล่งในประเทศ

ก็พึ่งพิงการอัดฉีดเงินจากรัฐบาล และหากดูฝั่งการผลิต

ก็พึ่งพิงภาคอุตสาหกรรมและภาคที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรม

...ประเทศเราทะเลาะกันจนบ้านเมืองไม่ไปไหนครับ...

ปีหน้าความอึมครึมในประเทศทั้งปัญหาด้านข้อกฎหมาย

ทั้งปัญหากีฬาสี ก็ยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงกดดันเศรษฐกิจเราอยู่

อย่างต่อเนื่อง...เมื่อหันไปดูภาคต่างประเทศ...เศรษฐกิจโลก

ก็มีการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ เศรษฐกิจโลกเริ่มเห็นสัญญาณ

ชัดเจนของการเปลี่ยนขั้วผู้นำทางเศรษฐกิจ จากประเทศ

มหาอำนาจเก่า มาเป็นประเทศกำลังพัฒนา...ประเทศเรา

เป็นประเทศที่มีการเปิดกว้างทางเศรษฐกิจสูงกว่า 100%

ของ GDP จึงเลี่ยงไม่ได้ที่เศรษฐกิจเราจะผันผวนไปตาม

เศรษฐกิจโลกครับ...ปีหน้าความผันผวนยังมีต่อไปครับ...

พี่น้องชาวไทยจะลงทุนอะไรผมว่าคงต้องพิจารณาเลี่ยง ๆ

การลงทุนที่กล้าได้กล้าเสีย (high risk high return) หน่อยนะครับ

ปลอดภัยไว้ก่อนครับ สวัสดีปีใหม่ ขอให้ทุกคนรวย ๆ สุขภาพกาย
สุขภาพจิตแข็งแรงครับ

ตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทย ปี 2553 รุ่ง หรือ ร่วง

โดย บรรยง วิเศษมงลชัย
กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทบริหารสินทรัพย์กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด


หากมีคนถามว่าปี 2553 ที่จะถึงนี้ ตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทย

จะดีกว่าปี 2552 หรือไม่ ถ้าให้ตอบตามความรู้สึกของคนทั่ว ๆ ไป

ก็อาจบอกได้ว่าไม่ค่อยดีเท่าที่ควร แต่ก็ไม่มีใครฟันธงได้ว่าที่ไม่ดีนั้น

เพราะอะไร เพื่อให้การตอบคำถามนี้มีเหตุผลยิ่งขึ้น เราลองมาดูปัจจัย

สำคัญที่มีผลกระทบต่อภาคอสังหาริมทรัพย์กันดีกว่า


หมายเหตุ : เศรษฐกิจโลก หมายถึง เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า
ที่สำคัญของประเทศไทย ได้แก่ สหภาพยุโรป, สหรัฐอเมริกา, ญี่ปุ่น,
จีน, สิงคโปร์, มาเลเซีย, ฮ่องกง, ทวีปออสเตรเลีย, อินโดนีเซีย, เวียดนาม,
เกาหลีใต้, ฟิลิปปินส์, อินเดีย และไต้หวัน
ปัจจัยต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอก พอสรุปได้ ดังนี้

1. คาดการณ์ตัวเลขการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปี 2553
จะดีกว่าปี 2552 ค่อนข้างชัดเจน
2. การลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชนปี 2553 ดีขึ้นกว่าปี 2552
ค่อนข้างมากเช่นกัน อีกทั้งการส่งออกก็มีแนวโน้มที่ดีกว่าปี 2552
3. อัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับต่ำ โดยอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
ของธนาคารแห่งประเทศไทยอยู่ที่ระดับ 1.50% เท่านั้น และ
ยังคงอยู่ในระดับต่ำเช่นนี้ต่อไปอีกระยะหนึ่ง ซึ่งเพียงพอ
ต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจในขณะนี้
4. เศรษฐกิจทั่วโลก รวมทั้งเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาเริ่มฟื้นตัว
แม้จะมีปัจจัยลบในเรื่องของราคาน้ำมัน ที่มีแนวโน้มว่าจะสูงขึ้น
ถึง 80 เหรียญต่อบาร์เรลในปี 2553 แต่ก็เป็นไปตามการคาดการณ์
ของประเทศต่าง ๆ อยู่แล้ว
ภาคอสังหาริมทรัพย์ไทยในปี 2553 จึงมีทิศทางที่ดีกว่าปี 2552
ด้วยเหตุผลว่ามีปัจจัยบวกหลาย ๆ ปัจจัย ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบ
กับช่วงเริ่มต้นของปีที่ผ่านมาแล้ว นับว่าปี 2553 ดีกว่ากันมาก
อีกทั้งโดยพื้นฐานของสังคมชาวเอเชียยังถือว่า การมี “ที่อยู่อาศัย”
เป็นหนึ่งในปัจจัยที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ รวมทั้งยังบ่งบอกถึง
ความสำเร็จและความภาคภูมิใจในชีวิต ทุกคนจึงต้องการมีบ้าน
เป็นของตนเอง และไม่น่าแปลกใจเลยว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์
ของเอเชียจะ “บูม” มากกว่าตลาดอื่น ๆ
จากเหตุผลทั้งหมดคงพอจะฟันธงได้ว่า ปี 2553
ภาคอสังหาริมทรัพย์ไทยดีกว่าปี 2552 อย่างชัดเจน
แต่อย่างไรก็ตามยังประมาทไม่ได้!!
เพราะสิ่งที่ไม่คาดคิดอาจจะเกิดขึ้นได้เสมอ
อีกทั้ง ตามข้อมูลที่ได้รับ พบว่าการซื้อ-ขายคอนโดมิเนียม
ในปัจจุบันก็เริ่มที่จะมีการเก็งกำไรกันบ้างแล้ว แม้จะไม่มากมายนัก
ซึ่งก็หวังว่า วงการอสังหาริมทรัพย์ของเราจะช่วยกันดูแล
อย่าปล่อยให้มีการเก็งกำไรจนส่งผลเสียหายในภาพรวม
เพราะตลาดอสังหาฯ ปีหน้าที่หวังว่าจะ “รุ่ง”
อาจจะกลายเป็น “ร่วง” ได้เช่นกัน

วิเคราะห์เศรษฐกิจโลก 2010

เอกสารนำเสนองาน iZen ครั้งที่ 3
วิเคราะห์เศรษฐกิจโลก 2010
December 17, 2009

งานเสวนา iZen ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2552

มีการบรรยายสองหัวข้อ ได้แก่ วิเคราะห์ภาพรวม

เศรษฐกิจโลกปี 2010 (Update Global Economy Outlook 2010)

และ ยุทธศาสตร์ประเทศไทยในทศวรรษหน้า


เอกสารนำเสนอหัวข้อ Update Global Economy Outlook 2010

โดยคุณสุรศักดิ์ ธรรมโม นักเศรษฐศาสตร์ประจำ SIU

http://s3.amazonaws.com/ppt-download/siu-updateglobaleconomyoutlook2010-091217002649-phpapp02.pdf?Signature=Bt2FR%2BdKNdmuUhSwc%2FdJXlQTSh4%3D&Expires=1262595006&AWSAccessKeyId=AKIAJLJT267DEGKZDHEQ
Custom Search

Followers