Wednesday, November 28, 2012

MetaStock

Wednesday, November 7, 2012

ไกลตาไกลใจ..พิสูจน์แล้วใช่เลย

ไกลตาไกลใจ..พิสูจน์แล้วใช่เลย

นักวิทยาศาสตร์ศึกษาจิตวิทยาโหลช็อกโกแลต ยืนยันสิ่งที่คนส่วนใหญ่รู้กันโดยสัญชาตญาณ นั่นคือคำพังเพยที่ว่า "ไกลตาไกลใจ" เป็นเรื่องจริง

จิตวิทยาโหลช็อกโกแลตคือ การที่บรรดาเลขาฯหน้าห้องทั้งหลายได้รับแจกเฮอร์ชีย์คิสสำหรับสัปดาห์เลขาฯ ซึ่งผลปรากฏว่า ช็อกโกแลตที่บรรจุอยู่ในโหลใสแจ๋วและวางเด่นเป็นสง่าอยู่บนโต๊ะทำงาน จะพร่องหายไปเร็วกว่าช็อกโกแลตที่เก็บไว้มิดชิดในตู้ปิดทึบ หรือวางอยู่ไกลตัว

หลุยส์ เอรอนนี ผู้อำนวยการโครงการควบคุมน้ำหนักของวิทยาลัยการแพทย์เวลล์ คอร์เนลในนิวยอร์ก และประธานโอเบซิตี้ โซไซตี้ เจ้าภาพการประชุมที่มีการนำเสนอรายงานชิ้นนี้ กล่าวว่า การศึกษาดังกล่าวให้แง่คิดเกี่ยวกับสิ่งที่นักวิจัยกำลังทำอยู่เพื่อประเมินเจตจำนงของคน

การศึกษาที่ว่ามีแกนนำคือ ไบรอัน แวนซิงค์ ผู้เชี่ยวชาญการตลาดด้านอาหารและพฤติกรรมการบริโภค ของมหาวิทยาลัยคอร์เนล โดยเอรอนนีชี้ว่า นี่เป็นหนึ่งในไม่กี่โครงการที่ทำการศึกษาและแสดงปริมาณของปัจจัยเร้าที่นักวิจัยเชื่อมานานแล้วว่ามีอยู่จริง

วิธีการก็คือ แวนซิงค์และทีมงานแจกช็อกโกแลตคิสส์ให้เลขานุการิณีในมหาวิทยาลัย 40 คน คนละ 30 ชิ้น โดยมีทั้งที่บรรจุอยู่ในโหลใสและโหลขุ่น และวางอยู่บนโต๊ะหรือวางห่างโต๊ะไป 6 ฟุต และจะแอบไปเติมให้ทุกคืน สี่สัปดาห์ต่อมา นักวิจัยจึงกลับไปนับจำนวนช็อกโกแลตที่พร่องหายไป

ผลปรากฏว่า เหล่าเลขาฯกินช็อกโกแลตเฉลี่ย 7.7 ชิ้นต่อวันเมื่อโหลใสแจ๋ววางอยู่บนโต๊ะ, 4.6 ชิ้นต่อวันถ้าโหลขุ่นวางอยู่บนโต๊ะ, 5.6 ชิ้นต่อวันถ้าโหลใสแจ๋ววางไกลออกไป 6 ฟุต และ 3.1 ชิ้นเมื่อโหลขุ่นวางห่าง 6 ฟุต

ในการสัมภาษณ์ภายหลังจากนั้น เลขาฯประเมินว่าตนเองกินช็อกโกแลตมากกว่าความเป็นจริงกรณีที่พวกเธอต้องเดินไปหยิบ แต่ประเมินต่ำเกินจริงเมื่อช็อกโกแลตเหล่านั้นอยู่ใกล้แค่มือเอื้อม

Wednesday, March 17, 2010

กลยุทธ์ของเฮดจ์ฟันด์

โดย สุมาอี้

ทุกวันนี้ถ้าไม่นับ กองทุนบริหารความมั่งคั่งแห่งรัฐฯ และกองทุนบำเหน็จบำนาญ
ต่างๆ แล้ว "ขาใหญ่" ของตลาดทุนโลกอันดับถัดมาคงหนีไม่พ้น พวกเฮดจ์ฟันด์ ต่างๆ

เฮดจ์ฟันด์ ตามความหมายดั่งเดิม คือ กองทุน ที่ลงทุนด้วยการเสาะหา ช่องว่าง
ในการทำกำไรที่ปราศจากความเสี่ยง (Riskless) ถ้าจะยกตัวอย่างง่ายๆ ก็คงหนีไม่พ้น
วิธีของกองทุน Long-term Capital Managment ที่อื้อฉาวในอดีต

ในทางทฤษฏี พันธบัตรรัฐบาลสองตัวที่มีอายุเท่ากัน จ่ายดอกเบี้ยเท่ากัน จะต้องมี
ราคาเท่ากันด้วย แต่ในความเป็นจริง อาจมีราคาต่างกัน เพราะสภาพคล่องของตลาด
ในช่วงสั้น ที่ไม่สมบูรณ์แบบ LTCM ใช้วิธียืมพันธบัตรรัฐบาล จากกองทุนอื่น ที่มี
ราคาตลาดสูงกว่ามาขาย แล้วเอาเงินที่ได้มาซื้อพันธบัตรตัวที่ถูกกว่ามาถือไว้แทน
การถือไว้ทั้ง short และ long position ในราคาที่ต่างกันเล็กน้อยเช่นนี้ จะทำให้เกิดกำไร
เป็นจำนวนเท่ากับส่วนต่างของราคา เมื่อใดก็ตาม ที่ส่วนต่างของราคาในตลาด
บีบเข้าหากัน ก็จะเกิด net gain ขนาดเล็กๆ ขึ้น เป็นโอกาสให้ LTCM ล้างสถานะ
ทั้งหมดเพื่อทำกำไรได้

การลงทุนด้วยวิธีนี้มีความเสี่ยงต่ำมาก เนื่องจากโอกาสที่ราคาพันธบัตรทั้งสอง
จะหนีออกจากกันมากๆ (เกิด net loss) มีน้อยมาก ต่อให้เกิดขึ้นจริง ก็ไม่น่ากลัว
เพราะสามารถถือต่อไปแล้วรอให้พันธบัตรทั้งสองตัวหมดอายุก็ได้ ราคาจะกลับมา
เท่ากันเอง และพันธบัตรก็เป็นสินทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูงยิ่ง การลงทุนด้วยวิธีนี้
จึงมีลักษณะคล้ายกับ "โอกาสที่ไม่มีความเสี่ยง"

แม้ว่า net gain ที่มีโอกาสเกิดขึ้น จะมีขนาดเล็กมากๆ เพราะผลต่างของ
ราคาพันธบัตรสองตัวที่เหมือนกันคงต่างกันไม่ได้มากนัก แต่ LTCM ก็ทำกำไร
ด้วยวิธีการนี้ได้อย่างมหาศาล เพราะไม่ได้ใช้เงินของตัวเอง LTCM เพียงแต่
ขอยืมพันธบัตรของคนอื่นมาขาย แล้วเอาเงินก้อนนั้นแหละมาซื้อพันธบัตรอีกตัวหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริง LTCM จะต้องถือเงินส่วนตัวไว้จำนวนหนึ่งด้วย
เพื่อให้เจ้าของพันธบัตรเชื่อเครดิต เงินจำนวนนี้ จึงเป็นส่วนทุนที่แท้จริงของ LTCM
ซึ่งก็น้อยมากเมื่อเทียบกับขนาดพันธบัตรที่ยืมมาหลายสิบเท่าตัว ฉะนั้น แม้ net gain
จะแคบมาก แต่ LTCM ก็ได้กำไรหลายสิบเท่าตัวเมื่อเทียบกับทุนที่ใช้ ตลาดพันธบัตร
เป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่มหึมา และมีสภาพคล่องสูง LTCM จึงสามารถเพิ่ม position
ได้โดยไม่จำกัด

แต่สุดท้ายแล้ว LTCM ก็ยังเจ๊งได้ยังไงนั้น ทุกท่านสามารถหาหนังสืออ่านได้ทั่วไป
แต่ประเด็นที่ผมอยากจะเขียนถึงในบทความนี้คือ กลยุทธ์ในการลดความเสี่ยงของ
พวกเฮดจ์ฟันด์ต่างๆ ซึ่งเป็นวิธีการที่น่าเรียนรู้

กลยุทธ์ลดความเสี่ยงอีกอย่างหนึ่งของพวกเฮดจ์ฟันด์ ที่จะขอยกมาเขียนถึง
เป็นตัวอย่างเรียกว่า market neutral strategy กลยุทธ์นี้มีแนวคิดว่า บ่อยครั้งที่เรา
ค้นพบหุ้นตัวหนึ่ง ที่มีสตอรี่ที่ดีมาก ทำให้ราคาหุ้นมีโอกาสที่จะขยับขึ้นได้ในอนาคต
แต่พอเราลงทุนไป ปรากฏว่า ภาวะตลาดเกิดเลวร้ายลง ทำให้แม้หุ้นที่เราลงทุน
จะมีสตอรี่ที่ดี แต่ก็ฝืนภาวะตลาดไม่ไหว ทำให้ต้องขาดทุนอยู่ดี ภาวะตลาด
จึงเป็นความเสี่ยงที่ควบคุมไม่ได้ที่สำคัญสำหรับการลงทุนแบบ bottom up

เพื่อลดความเสี่ยงของภาวะตลาด (Market Risk) ลง แทนที่จะซื้อหุ้นตัวนั้นเฉยๆ
ก็ให้ short index ไปพร้อมกันด้วย ถ้าหากเกิดโชคร้ายตลาดลงแรง แต่ถ้าเราคิดได้
ถูกต้องเกี่ยวกับสตอรี่ของหุ้นตัวนั้น แม้หุ้นจะลงด้วยตามภาวะตลาด แต่เนื่องจาก
มันลงน้อยกว่าตลาด เพราะมีสตอรี่ที่ดี ของตัวเองช่วยเอาไว้ เมื่อ net กับ
short index position แล้ว เราจึงยังคงได้กำไรอยู่ แม้ตลาดจะลง วิธีจึงช่วย
ให้เราลงทุนแบบ bottom up ได้โดยไม่ว่าภาวะตลาดจะเป็นอย่างไร เพราะตราบใด
ที่หุ้นของเรา outperform ตลาด เราจะยังได้กำไรเสมอ

อย่างไรก็ตาม market neutral strategy ไม่ถือว่าเป็น riskless opportunity
อย่างแท้จริง เพราะหลักทรัพย์ที่ long กับที่ short นั้นไม่ได้เหมือนกันทุกประการ
เหมือนอย่าง ในกรณีของ LTCM วิธีนี้ จึงช่วยลดความเสี่ยงลงได้ส่วนหนึ่ง
แต่ไม่ใช่ทั้งหมด บางกองทุนจึงเพียงแต่ short index ไว้แค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น
เช่น เท่ากับ 30% ของหุ้นที่ซื้อ แทนที่จะ short เต็มทั้งจำนวน
เพราะการลดความเสี่ยงของตลาดลงส่วนหนึ่ง แต่ไม่ถึงกับเต็มอัตรา

อีกกลยุทธ์หนึ่งที่น่าสนใจของพวกเฮดจ์ฟันด์มีชื่อว่า 130/30 กลยุทธ์นี้มาจาก
แนวคิดที่ว่า บางครั้งตลาดอยู่ในภาวะฟองสบู่ หุ้นส่วนใหญ๋ในตลาดแพงหมด
ถ้าเรามีนโยบายลงทุน 100% ของพอร์ตตลอดเวลา ก็เท่ากับเป็นการบังคับ
ให้เราต้องถือหุ้นบางตัว ทั้งที่เราคิดว่ามันแพงมากแล้ว ดังนั้น แทนที่เราจะซื้อ
หุ้นอย่างเดียว 100% ของพอร์ต เราเปลี่ยนมาเป็นการซื้อหุ้นในตลาดที่เราคิดว่า
ถูก 130% ของพอร์ต (ยืมมาร์จิ้นมา) และ short หุ้นในตลาดที่เราคิดว่าแพงอีก
30% แบบนี้ net position ของเราก็ยังคงเท่ากับ 100% อยู่ เช่นเดิม แต่แทนที่เรา
จะต้องฝืนใจถือหุ้นแพงเข้าพอร์ตทั้งหมด เราหาผลตอบแทนด้วยการ short หุ้น
ที่แพงไปได้ด้วยอีกส่วนหนึ่ง ในระยะยาว น่าจะทำผลตอบแทนได้สูงกว่า
การซื้ออย่างเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่ตลาดหุ้นแพงเรื้อรัง

ที่ยกตัวอย่างมา เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่ง ของกลยุทธ์ของพวกเฮดจ์ฟันด์ที่มีอยู่
อย่างมากมายในปัจจุบัน แต่ละกลยุทธ์ก็แสนพิสดารสุดที่จะคิดกันขึ้นมาได้
สมัยนี้เฮดจ์ฟันด์หลายกองก็ไม่ได้มีกลยุทธ์มุ่งลดความเสี่ยงตามนิยามที่ดั่งเดิม
อีกต่อไปแล้วด้วย (วิธีอะไรก็ได้ที่คิดว่าจะดึงดูดเม็ดเงินของนักลงทุนได้เป็นใช้ได้)

การเรียนรู้วิธีการใหม่ๆ ของพวกเฮดจ์ฟันด์นั้น ช่วยทำให้เห็นว่าโลกนี้ยังมีวิธีการ
ลงทุนแบบอื่นๆ อยู่อีกมากมาย อย่างไรก็ตาม ผมคงไม่แนะนำให้นักลงทุนหน้าใหม่
เลียนแบบวิธีการของเฮดจ์ฟันด์ แม้ว่าบางหลายวิธีจะดูมีเหตุผลดีทีเดียว แต่การทำ
ธุรกรรม short นั้นต้องการวินัยอย่างสูง บางครั้งวิธีการดี แต่จิตใจยังไม่หนักแน่นพอ
ก็พลาดได้ง่ายๆ

ผมเชื่อว่า ทุกวันนี้การที่ตลาดทุนโลกเต็มไปด้วยเฮดจ์ฟันด์ ทำให้ราคาหุ้นขึ้นอยู่
กับนโยบายการเงินของรัฐฯ มากกว่าปัจจัยพื้นฐานของตัวหุ้นเข้าไปทุกที เพราะกลยุทธ์
ส่วนใหญ่ของเฮดจ์ฟันทำกำไรจาก noise จึงสามารถทำกำไรได้เสมอโดยไม่ต้องสนใจ
ว่าหุ้นที่ซื้อจะแพงหรือไม่เมื่อเทียบกับปัจจัยพื้นฐาน ดังนั้นเวลาที่เฟดใช้นโยบายการเงิน
แบบผ่อนคลาย เฮดจ์ฟันด์ก็จะหาทุนได้มากขึ้น ก็จะนำมาสร้าง position ในตลาดหุ้น
มากขึ้นทันที โดยไม่เกี่ยวกับ outlook ของหุ้น และเมื่อเฟดใช้นโยบายการเงินตึงตัว
ก็จะให้ผลตรงกันข้าม เงินที่ไหลเข้าออกจากตลาดหุ้นจึงเป็นไปตามภาวะตลาดเงินมากกว่า
จะเป็นไปตามตามความคิดของนักลงทุนเกี่ยวกับปัจจัยพื้นฐานของตัวหุ้นในขณะนั้น

Dickson G. Watts

โดย สุมาอี้

ผมได้อ่านหนังสือโบราณเล่มหนึ่ง ซึ่งเขียนโดย Dickson G.Watts
นักเก็งกำไรในตลาด New York Cotton Exchange เมื่อ 85 ปีที่แล้ว
ท่านผู้นี้ร่ำรวยขึ้นมาจากมือเปล่าด้วยการเป็นนักเก็งกำไรราคาฝ้าย
และในวัยสูงอายุได้ดำรงตำแหน่งเป็นประธานของ NYCE ในระหว่าง
ปี 1878 - 1880 อีกด้วย

หนังสือเล่มนี้หายสาบสูญไปนาน แต่มันกลับมาได้รับความสนใจอีกครั้ง
เมื่อ Edwin Lefevre ผู้เขียนหนังสือชื่อ Reminiscences of a Stock Operator
ซึ่งเป็นชีวประวัติของ Jesse Livermore นักเก็งกำไร ผู้โด่งดังในช่วงปี
1900-1930 กล่าวถึงกฏของ Watts ไว้ในหนังสือ

หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่มีขนาดเล็กมาก มันมีกฏทองของการเก็งกำไร
เพียงไม่กี่ข้อ ซึ่งเป็นการสรุปจากประสบการณ์การเก็งกำไรทั้งชีวิตของผู้เขียน
ผมเห็นว่า มันมีประสบการณ์ ที่ทรงคุณค่า ซึ่งจะช่วยให้ ประหยัดเวลา
ในการเรียนรู้เกี่ยวกับตลาดหุ้นของเราได้ โดยที่ไม่ต้องจ่ายค่าเทอมเองด้วย
อย่างไรก็ตาม มันเป็นหลัก สำหรับการเก็งกำไรเป็นหลัก ต้องระวังเวลานำไปใช้
กับการลงทุน เพราะแม้ว่าจะใช้ได้บ้างในบางส่วน แต่ไม่ว่าทั้งหมด

กฏของ Watts มีทั้งหมด 10 ข้อ 4 ข้อแรก เป็นกฏที่เป็นจริงเสมอ
(Laws Absolute) อีก 6 ข้อหลังเป็นกฏที่โดยปกติให้ยึดถือเอาไว้
แต่ในบางสถานการณ์ ก็สามารถยืดหยุ่นได้ (Rules Conditional)
ผมขออนุญาตเริ่มจาก Rule Conditional ทั้ง 6 ข้อก่อน

Rule Conditional #1 : การซื้อเฉลี่ย "ขาขึ้น" ดีกว่าการซื้อเฉลี่ย "ขาลง"

ธรรมเนียมทั่วไป นิยมเชื่อว่าการเฉลี่ยขาลง ดีกว่า เพราะทำให้
ต้นทุนเฉลี่ยลดลงเรื่อยๆ แม้ว่าสี่ในห้าครั้งที่เฉลี่ยขาลง ราคาหุ้น
จะพลิกกลับขึ้นมา ทำให้มีกำไรได้ แต่จะมี อีกหนึ่งในห้าครั้งที่
ราคาหุ้น ลงแบบถาวร ไม่กลับขึ้นมาอีกเลยตลอดไป ซึ่งจะนำ
ไปสู่การขาดทุนมหาศาลได้

Rule Conditional #2 ตลาดโวลุ่มหาย แนวต้านไม่แข็งแรง คือตลาด
ที่ควรจะขายเพราะตลาดเช่นนี้มักจะพัฒนาไปสู่ตลาดขาลง แต่เมื่อไรก็ตาม
ที่ตลาดเช่นนี้ ได้ผ่านไปสู่ภาวะ ที่มีโวลุ่มหนาแน่น และเป็นขาลงแล้ว
ต่อด้วยแรงขายแบบตื่นตระหนกเรียบร้อยแล้วก็ถึงเวลาที่ควรจะซื้อมากๆ

ในทางตรงกันข้าม ตลาดที่โวลุ่มหาย แต่แนวต้านมั่นคง มักจะพัฒนา
ไปสู่ตลาดที่มีโวลุ่มหนาแน่นและมีฐานที่แข็งแรง หลังจากนั้นถ้าตลาด
กลายเป็นตลาดที่เต็มไปด้วยอารมณ์ตื่นเต้น ก็ควรจะขายออกมาอย่างมั่นใจ

Rule Conditional #3ในการสร้างมุมมองเกี่ยวกับตลาด ปัจจัยด้าน
ความน่าจะเป็นจะละเลยไม่ได้ จงคิดถึงความน่าจะเป็นเสมอ
นโปเลียนวางแผนการรบจะเผื่อกรณีสุดวิสัยเอาไว้เสมอ อุบัติเหตุอาจเกิดขึ้น
มาทำลายหรือหักล้างการคิดคำนวณที่ดีที่สุดได้ การคิดคำนวณจึงต้องรวม
สิ่งที่คาดไม่ได้เอาไว้เสมอ คนที่คิดคำนวณความน่าจะเป็นไว้ด้วยคือยอดคน

จงสร้างมุมมองจากข้อมูลต่างๆ เช่น สภาวะของประเทศ ผลผลิตทางการเกษตร
ตัวเลขการผลิต ฯลฯ สถิติเก่าๆ นั้นเป็นสิ่งที่มีค่า แต่จะต้องไม่มีอิทธิพลเหนือ
ข้อมูลในการสร้างมุมมองเกี่ยวกับสถานการณ์ข้างหน้า คนที่ยึดติดกับสถิติเก่าๆ
มากเกินไปจะหลงทาง เคนนิ่งกล่าวว่า "there is nothing so fallacious as facts,
except figures."

ดังนั้น จึงควรเริ่มซื้อแต่น้อย เมื่อราคาหุ้นไต่ระดับขึ้นก็ค่อยๆ ซื้อเพิ่ม
อย่างเฝ้าระวัง เมื่อไรที่ราคาหุ้นปรับฐานลงจนชนต้นทุนเฉลี่ยเมื่อไร
ก็ควรขายหนีทันที เพื่อหลีกเลี่ยงการขาดทุน ถ้าทำเช่นนี้ตลอดจะมีบางครั้ง
ที่ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นไป อย่างมาก ทำให้ได้กำไรมหาศาล ในครั้งนั้น
กลยุทธ์นี้มีความเสี่ยงต่ำ และเมื่อใดก็ตามที่สำเร็จจะได้กำไรสูง
ควรใช้กลยุทธ์ซื้อเฉลี่ยขาขึ้นเมื่อคาดว่าตลาดกำลังมีการเปลี่ยนแปลง
ครั้งสำคัญและในจังหวะที่คุณมีเงินทุนพอเพียงที่จะทำเช่นนั้น

Rule Conditional #4ในสถานการณ์ทั่วไป คำแนะนำของเราคือการซื้อ
ในครั้งเดียวให้ได้จำนวนที่เหมาะสมกับทุนที่มีอยู่ไปเลย การ Cut loss
หรือการ Take Profit ก็ให้ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณ หลักก็คือ Stop lossess
and let profits run. ถ้าหากกำไรขนาดเล็กเรา Take ได้ ขาดทุนขนาดเล็ก
เราก็ต้องกล้า Take ด้วย การขาดความกล้า ที่จะขาดทุน ขนาดเล็ก และ
การรีบร้อนเกินไปที่จะ Take Profit คือหายนะ มันทำให้เสียงานมามากแล้ว

Rule Conditional #5การซื้อขาลงต้องอาศัยกระเป๋าเงินที่ลึกและจิตใจที่มั่นคง
บ่อยครั้งที่ความหายนะมาเยือนผู้ที่มีทั้งสองสิ่ง ยิ่งจิตใจมั่นคง โอกาสที่จะถือหุ้น
ไว้นานเกินไปยิ่งมาก อย่างไรก็ดี มีคนจำพวกหนึ่ง ที่ประสบความสำเร็จ
ในการซื้อขาลงแล้วถือไว้เฉยๆ พวกนี้ซื้อทีละน้อย เข้าอย่างรอบคอบ และถือ
เอาไว้นานๆ พวกเขาเป็นคนที่ไม่รู้สึกถูกรบกวนใจเพราะความผันผวนของราคา
พวกเขา เป็นนักตัดสินใจ ซึ่งซื้อในยามที่ตลาดแย่มากๆ แล้วถือไว้จนธุรกิจ
พลิกฟื้นตัวได้ แบบนี้เป็นการลงทุนไม่ใช่การเก็งกำไร

Rule Conditional #6ความเห็นของตลาดนั้นจะละเลยไปเลยไม่ได้
เมื่อเกิดกระแสการเก็งกำไร เราควรเฝ้าดูอย่างใกล้ชิด หลักก็คือ ตัดสินใจ
อย่างรอบคอบตลาดกระแสตลาด ถ้าจะสวนตลาดก็ให้ทำอย่างกล้าหาญ
การแห่ตามตลาดแม้ว่าทุกอย่างจะดูดีนั้นเป็นเรื่องที่อันตราย เมื่อทิศทาง
พลิกกลับเราจะลำบาก นักเก็งกำไรตระหนักดีถึงอันตรายของ "การมีเพื่อนมากเกินไป"
ในขณะเดียวกันก็ต้องรอบคอบอย่างยิ่งในการสวนตลาด ตลาดมีชีพจร
ที่นักเก็งกำไรควรวางมือของตนไว้บนข้อมือของตลาดแบบเดียวกับแพทย์
ชีพจรนี้คือสิ่งที่จะบ่งบอกเราว่าควรทำเช่นไรและเมื่อใด

คราวนี้ ขอกล่าวถึง Law Absolute ที่เหลืออีก 4 ข้อ ของ Dicksons G.Watts บ้าง

Law Absolute 1: Never Overtrade
การเปิดสถานะโดยมิประเมินทุนที่มีอยู่นำมาซึ่งหายนะ ความผันผวนที่รุนแรง
จะปั่นหัวของนักลงทุนทำให้การตัดสินใจผิดพลาดไปหมด

Law Absolute #2 : Never "Double Up"
ห้ามกลับสถานะทีเดียวทั้งหมดในทันที ตัวอย่างเช่น กำลัง long อยู่
ห้ามขายทิ้งหมดแล้วเปลี่ยนมา short ทันทีในปริมาณที่เท่ากัน ในบางครั้ง
การทำเช่นนี้อาจประสบความสำเร็จแต่นับว่าอันตราย หากตลาดพลิก
กลับมาขึ้นต่อ ใจกลับไปเก็งทิศทางเดิม นักเก็งกำไรจะทิ้ง short แล้วหันมา
long ใหม่อีกครั้ง ถ้าหากว่าหนนี้ผิดพลาด ความปั่นป่วนในใจจะเกิดขึ้น
ดังนั้นเมื่อต้องการกลับทิศทางควรทำทีละน้อยอย่างระมัดระวัง ทั้งหมด
ก็เพื่อรักษาความสามารถในการตัดสินใจของเราให้ปลอดโปร่งอยู่เสมอ
สร้างสมดุลของจิตใจ

Law Absolute #3 : Run Quickly or Not at All
ลงมือจัดการทันทีที่เห็นอันตรายเริ่มเคลือบคลานเข้ามาเป็นครั้งแรก
แต่หากพลาดที่จะลงมือแต่เนิ่นๆ จนกระทั้งคนอื่นในตลาดเห็นอันตรายนั้น
กันหมดแล้วก็จงอยู่เฉยๆ เหมือนเดิม หรือมิฉะนั้นก็ปิดสถานะเพียงแค่บางส่วน

Law Absolute #4: เมื่อลังเล ลดสถานะ
หากรู้สึกใจคอไม่ดีกับสถานะที่เปิดอยู่ หรือสถานะใหญ่เกินกว่าที่จะรู้สึกปลอดภัย
ชายคนหนึ่งบอกชายอีกคนหนึ่งว่า เขานอนไม่หลับเลย เพราะสถานะของเขา
ชายอีกคนตอบง่ายๆ ว่า "Sell down to a sleeping point."

กฏของ Watts นั้นมีอะไรที่ลึกซึ้งซ่อนอยู่ระหว่างบรรทัดเยอะ
หลายอย่าง เกิดจากประสบการณ์ที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมามาก
ทำให้มือใหม่ อาจยังเข้าใจไม่ได้ ในทันที ลองค่อยๆ อ่าน
ทำความเข้าใจไปเรื่อยๆ จะได้หลักการอะไรดีๆ หลายอย่าง
มาปรับใช้ให้เราอยู่ในตลาดได้อย่างคนฉลาดมากขึ้น

Monday, January 25, 2010

"Volcker Rule"

Obama ประกาศว่าอะไร

มาตรการที่ Obama ประกาศออกมานั้น มีอยู่ 2 ข้อใหญ่ๆ


การห้าม ไม่ให้สถาบันการเงิน ที่รับเงินฝาก คือ แบงก์

ไปมีธุรกรรมประเภท Hedge fund, Private equity fund

และ Proprietary trading ซึ่งเป็นการเอาเงินของตนเอง

ไปลงทุนในเครื่องมือทางการเงินที่เสี่ยงเพื่อแสวงหากำไร

ซึ่งกฏข้อนี้ Obama เรียกว่า Volcker Rule ตามเจ้าของ

แนวคิดคือคุณ Paul Volcker ซึ่งเป็นคนผลักดันในเรื่องนี้

มาตั้งแต่ต้น เป็นเวลา 1 ปีแล้ว



การออกเพดาน เพื่อป้องกันไม่ให้ เกิดการควบรวม

ในระบบสถาบันการเงิน ในสหรัฐมากจนเกินไป โดยที่จะมี

กฏว่าสถาบันการเงินแห่งใดแห่งหนึ่ง ไม่สามารถที่จะมีขนาด

ฐานเงินฝากเกินกว่า 10% ของฐานเงินฝากทั้งประเทศ

และตรงนี้ จะรวมไปถึง เงินทุนประเภทต่างๆ ที่อยู่นอกเหนือ

จากเงินฝากด้วย แต่รายละเอียด จะออกมาอีกที



นับเป็นความพยายามของ Obama ที่จะออกมาจัดการ

กับแบงก์และสถาบันการเงินรอบที่ 2 ภายในระยะเวลา

ไม่กี่สัปดาห์ หลังจากที่ได้ออกมา ประกาศขึ้นภาษี

สำหรับสถาบันการเงินขนาดใหญ่ไปแล้วก่อนปีใหม่



ทำไมต้องทำอย่างนี้

ทั้งหมดนี้มีเหตุผล

หนึ่ง – ต้องการป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤตอีกรอบหนึ่ง
จากปัญหาเดิมๆ ที่ทำให้เกิดวิกฤตครั้งนี้ ที่สถาบันการเงิน
ใหญ่มาก และมีแนวโน้มที่จะควบรวมกันและใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ
จนมีปัญหาที่เรียกว่า too big to fail คือใหญ่มาก
จนไม่สามารถปล่อยให้ล้มได้ และรัฐก็ไม่มีทางเลือก
เวลาที่เกิดปัญหา ก็ต้องมีกฏเกณฑ์ที่จะป้องกันไม่ให้
สถาบันการเงินมีขนาดใหญ่จนเกินไป

สอง – แบงก์เองก็ลงทุนในตราสารทางการเงินที่ซับซ้อนมาก
จนกระทั่งทำให้เกิดความเสียหายขึ้น และที่สำคัญที่ Obama
กังวลใจก็คือ แบงก์ต่างๆ รับเงินฝากด้วยดอกเบี้ยไม่แพงนัก
เพราะว่ามีรัฐบาลเป็นผู้ค้ำประกันเงินฝากให้ หัวใจอยู่ตรงนี้
(รัฐบาลรับประกันเงินฝากให้) แต่แบงก์เอาเงินฝากที่ได้
ไปลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ อย่างสุ่มเสี่ยง ที่อาจจะทำให้ล้ม
และเกิดความเสียหายได้ ทั้งผ่าน Proprietary Trading
และผ่าน Hedge fund และ Private equity ซึ่งถ้ากำไร
ก็เป็นโบนัส แต่ว่าถ้าขาดทุนก็จะเป็นความเสียหาย
ที่เกิดขึ้นกับรัฐบาล

ตรงนี้ Obama เลยเสนอว่า ให้เลือกเอาว่า จะทำอะไร
ระหว่าง (1) เป็นสถาบันการเงินที่รับฝากเงินของประชาชน
หรือ (2) เป็นสถาบันการเงินที่ลงทุนในตราสารที่เสี่ยง
ซึ่งถ้าจะทำอย่างหลัง ก็ต้องให้เลิกรับเงินฝาก คือให้ทำ
อย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น อันนี้เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤต
ซ้ำรอยขึ้นอีกในอนาคต และเพื่อคืนแบงก์ที่เน้นเรื่อง
การรับฝากเงิน การปล่อยสินเชื่อ และการให้บริการลูกค้า

สาม นอกจากนี้ ยังมีประเด็นทางการเมือง ที่ประชาชน
ไม่พอใจผู้บริหารของสถาบันการเงิน ที่มีการจ่ายโบนัส
ในช่วงที่ผ่านมา และเริ่มกลับไปทำอะไรที่เสี่ยงๆ อีกครั้ง
และประชาชนคิดว่าปัญหาครั้งที่แล้วมาจาก Wall street
เป็นสำคัญ โดยเฉพาะสถาบันการเงินใหญ่ ๆ ที่รัฐบาล
ไม่ควรเข้าไปอุ้ม ซึ่งในช่วงนี้ Obama กำลังที่จะตอบสนอง
กับข้อเรียกร้องของประชาชน และเริ่มเข้มงวดกับ
สถาบันการเงินมากขึ้น ทั้งเรื่องของการเก็บเพิ่มค่าธรรมเนียม
และการที่จะออกกฏเกณฑ์ที่เข้มงวดกับสถาบันการเงินเหล่านี้

ทั้งนี้ ตอนที่ออกมาประกาศแนวคิดเรื่องการปฏิรูปสถาบันการเงิน
รอบนี้ Obama บอกว่า รับไม่ได้กับการที่สถาบันการเงินบอกว่า
ไม่สามารถปล่อยสินเชื่อให้กับ SME ไม่สามารถลดดอกเบี้ยให้กับ
บัตรเครดิต ไม่สามารถจ่ายค่าธรรมเนียมเพิ่มได้ แต่กลับสามารถ
จ่าย โบนัสจำนวนมากให้กับผู้บริหารได้ ทำให้ Obama ยิ่งตั้งใจ
ที่จะทำเรื่องนี้ให้เกิดขึ้นให้ได้

นัยคืออะไร

ตอนนี้ ยังเร็วไป ที่จะสรุปว่าจะเกิดอะไรขึ้น เพราะกฏเกณฑ์
เหล่านี้ ต้องผ่านรัฐสภา และทางภาคแบงก์เอง ก็คงต่อสู้ดิ้นรน
กับเรื่องนี้อย่างเต็มที่

แต่จากการวิเคราะห์เบื้องต้น ผลกระทบถ้าเกิดขึ้นจริง ก็จะส่งผล
ให้แบงก์ใหญ่ๆ ที่เข้ามา ควบรวมกับ กิจการวานิชธนกิจในช่วง
ที่ผ่านมา เช่น กรณีของ Bank of America และ Merrill Lynch
JP Morgan Chase ต้องเลือกเอาว่าจะทำธุรกิจอะไร และต้อง
แยกออกจากกันระหว่าง 2 ส่วน

หรือแม้แต่บางสถาบันการงินเช่น Goldman Sachs และ
Morgan Stanley ที่ได้จัดตั้ง Bank Holding Company ขึ้นมา
ก็จะต้องตัดสินใจว่าจะรักษา ฐานะของการเป็น Bank ไว้หรือไม่
เพราะว่า ธุรกรรม และรายได้หลักของทั้ง 2 องค์กรนี้ คือ
Investment banking แต่ว่าข้อเท็จจริงก็คือ อย่างกรณีของ
Goldman Sachs ในช่วงที่ผ่านมา ก็ไม่ได้ มีการรับเงินฝาก
แต่อย่างใด เพียงแต่ใช้ฐานะของการเป็น Bank holding company
ในการเข้าถึงการช่วยเหลือสภาพคล่องจาก Fed ในยามวิกฤต

ความจริงหลายคนมองว่าสำหรับ สถาบันการเงินเหล่านี้
กฏข้อนี้ จะทำให้กลับไปเป็นเหมือนกับก่อนวิกฤต คือ
กลับไปเป็นบริษัทหลักทรัพย์อีกรอบหนึ่ง และถ้าจะว่าไปแล้ว
กฏข้อนี้ที่เรียกว่า Volcker rule ก็คล้ายๆ กับกฏหมายด้านการเงิน
ฉบับหนึ่งที่เคยออกมาหลังจากช่วง Great depression คือ
กฏหมายที่เรียกว่า Glass Stellgall ที่กำหนดให้แบ่งแยกชัดเจน
ระหว่างแบงก์กับ investment banks ออกเป็นสองกลุ่ม
ที่ไม่เกี่ยวเนื่องกัน ซึ่งถ้าจะว่าไปแล้ว กฏเกณฑ์ใหม่ข้อนี้
ก็คล้ายๆ กับกฏหมายฉบับดังกล่าว

นักวิเคราะห์คิดว่าอย่างไร และทางออกคืออะไร

สิ่งที่นักวิเคราะห์คิด ก็คือ

หนึ่ง – เร็วเกินไปที่จะฟันธงว่ารายละเอียดที่จะออกมาคืออะไร

และจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ เพราะว่าที่ Obama พูดเป็นเพียง

กรอบคร่าวๆ เท่านั้น ยังต้องไปตกลงในรายละเอียด

และกลุ่มอุตสาหกรรมการเงินคงไม่ยอมแพ้

สอง – อาจจะไม่ตรงจุด เพราะปัญหาไม่ได้มาจาก

Propreitery trading และไม่ได้มาจากกลุ่มแบงก์

สาม – ปัญหาเรื่องการแข่งขัน สิ่งที่น่าสนใจก็คือ

ในการประกาศครั้งนี้ คนที่ยืนอยู่ข้างหลัง Obama คือ

Paul Volcker แทนที่จะเป็น Geithner และ Summers

ซึ่งไม่เห็นด้วยกับกฏเกณฑ์ข้อนี้ เพราะคิดว่าไม่ตรงจุด

และ ไม่อยากจะออกกฏเกณฑ์ที่จะทำให้แบงก์ในสหรัฐ

เสียความสามารถในการแข่งขัน กับแบงก์ในประเทศอื่นๆ

ความจริง ถ้ากลับไปดู ก็จะพบว่ากฏหมาย Glass-stellgall

ถูกยกเลิกไปตอนที่ Summer และ Geithner อยู่ที่

กระทรวงการคลังของสหรัฐ และทั้งคู่ดูเหมือนกับว่า

เข้าข้าง Industry มาก

ท้ายสุด – การออกกฏข้อนี้ในช่วงนี้ อาจจะเป็นเพราะประเด็น

ทางการเมือง ที่ Obama เริ่มถาม บ่อยขึ้นว่า ทำไมเรื่อง

too big too fail รัฐบาลจึงไปเข้าข้างพวก Wall street

และไม่อยู่ข้างเดียวกับประชาชนที่ไม่พอใจ ทำให้รัฐบาล

เริ่มหันมาเข้มกับอุตสาหกรมมากขึ้น เพื่อความได้เปรียบ

ทางการเมือง ซึ่งการแพ้เลือกตั้งที่รัฐแมสซาซูเซท

เป็นจุดสำคัญ ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้

ก็ต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิด ว่าศึกนี้ใครจะชนะ

แต่ประธานาธิบดีบอกแล้วว่าพร้อมจะสู้เต็มที่เรื่องนี้

น่าสนใจน่าติดตามมากครับ

Custom Search

Followers