Thursday, November 5, 2009
นิทานของบริษัทหลักทรัพย์
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีกิจการซื้อขายหุ้นเกิดขึ้น
จำความได้ว่ามีการจัดเก็บค่านายหน้าซื้อขายหุ้น
(ค่าคอมมิชชัน) ที่ 0.50% ต่อหนึ่งรายการ
ในสมัยนั้นเหล่าบริษัทนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ (โบรกเกอร์)
ต้องมีใบอนุญาต และซื้อที่นั่ง (Seat) จากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.)
...ว่ากันว่าความเป็นสมาชิกของ ตลท. ตอนหลังมีการประมูล
สูงถึง 300 ล้านบาทต่อใบ และมีจำนวนโบรกเกอร์สูงถึง 50ราย
ครั้งนั้นการซื้อขายหุ้นยังเป็นแบบมือ (Manual)
มีกระดานไว้ให้เคาะ ตกลงซื้อขาย ยังไม่มีระบบคอมพิวเตอร์
จำนวนหุ้นก็มีอยู่ราว 100 กว่าตัว และหมวดหมู่ก็มั่วๆ กันอยู่
ที่เห็นมีหมวดเด่นๆ คือ ธนาคารเงินทุนหลักทรัพย์ ส่วนก่อสร้าง
กลุ่มที่ดินยังไม่มี และการซื้อขายหุ้นแค่ภาคเช้า
หลังการลดค่าเงินบาท 14.8% ในปี 2527 เริ่มต้นเศรษฐกิจเติบโต
ของไทยแบบส่งออกนำ ส่งผลให้ผลดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียน (บจ.)
เติบโตอย่างก้าวกระโดด ดัชนีตลาดหุ้น (Set) ขึ้นจุดสูงสุดในปี 2533
ที่ 1,143.78 จุด และก็เกิดวิกฤตตลาดหุ้นไทยครั้งที่ 1 เนื่องจากอิรักบุกคูเวต
ดัชนีตกต่ำสุดที่ 536.74 จุด ในปีเดียวกัน พื้นฐาน Set ยังคงแกร่ง
บจ.ยังคงมีการขยายงานมหาศาลลงทุนเกินขนาด ส่งผลอัตราดอกเบี้ย
เงินฝากสูงถึงระดับ 14-18% ต่อปี ในปลายปี 2536 เงินทุนต่างชาติไหลเข้า
ผลักดัชนี Set ขึ้นสูงสุดตลอดกาลที่ 1,789.16 จุดในวันทำการแรกของปี 2537
ในปี 2540 เกิดวิกฤตการเงิน ค่าเงินบาทลอยตัว
ในวันที่ 2 ก.ค. 2540 และในเดือนก.ย.ปี 2551
เกิดวิกฤตการเงินสหรัฐอเมริกา ส่งผลต่อตลาดหุ้นทั่วโลก
ถือเป็นวิกฤตตลาดหุ้นไทยครั้งที่ 3
การเปิดเสรีค่าคอมมิชชั่นครั้งแรกในปี 2544
จะเห็นได้ว่าในปี 2543 นั้นยังจัดเก็บค่าคอมมิชชันที่ 0.50%
ไม่ทราบว่าไปตกลงกันท่าไหน จึงเปิดเสรีในวันที่
1 ต.ค. 2544–13 ม.ค. 2545 โดยคิดค่าคอมมิชชันเฉลี่ยอยู่ที่ 0.14%
ปรากฏโบรกเกอร์ขาดทุนกันทั่วหน้า ในต้นปี 2545 จึงมาคุยกันใหม่
ตกลงใช้ค่าคอมมิชชันที่ 0.25% มาจนทุกวันนี้
การทำเน็ตเซตเทิลเมนต์ (Net Settlement) ก่อนหน้านั้น
การซื้อขายหุ้นต้องชำระเงินภายในวันที่ 3 คือ T+3
และต้องมีการชำระก่อนถึงจะรับเงินได้ ในช่วงก่อนเกิดวิกฤต
โบรกเกอร์มีการแข่งขันสูง มีบางรายอนุญาตให้ลูกค้า
ชำระส่วนต่างของมูลค่าซื้อขายแต่ละวัน (เน็ต)
ซึ่งขณะนั้นผิดกฎหมายอยู่ เพื่อความเป็นธรรม จึงมีการ
ตกลงให้ทำ Net Settlement ได้ จนถึงทุกวันนี้
Remisier (รีไมซิเออร์) หรือนายหน้าแบ่งรายได้
หลังวิกฤตการเงินปี 2540 เหล่าโบรกเกอร์ไทยต้องการลดต้นทุน
และผลักภาระความเสี่ยงออกจากตัว จึงยืมเอาหลักการ
ที่ใช้กันอยู่ในมาเลเซียและสิงคโปร์คือหลักการมาร์เก็ตติง (ตัวแทน)
แบบแบ่งกำไร เปลี่ยนสถานะมาร์เก็ตติงจากลูกจ้างเป็นผู้ประกอบกิจการร่วม
ซึ่งมีชื่อเรียกเพราะๆ ว่า รีไมซิเออร์
ณ 6 เดือนแรกของปี 2552 รวม 11 โบรกเกอร์มีส่วนแบ่งตลาดที่ 42.53%
มีค่าคอมมิชชันเฉลี่ยอยู่ที่ 0.20% โดย บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย)
หรือ UOBKH มีค่าคอมมิชชันเฉลี่ยสูงสุดที่ 0.24% และ บล.บีฟิท (BSEC)
มีค่านายหน้าต่ำสุดที่ 0.12%
ขณะเดียวกัน รวม 11 โบรกเกอร์มีโครงสร้างรายได้ถึง 60.1%
มาจากค่านายหน้า และที่เหลืออีก 39.9% มาจากค่าธรรมเนียม
ซื้อขายหุ้น ดอกเบี้ย หรืออื่นๆ
ในปี 2553-2554 จะเปิดเสรีแบบขั้นบันได และในปี 2555
จะเปิดเสรีเต็มที่ มาร์เก็ตติงแบบแบ่งกำไร จะมีเวลาปรับตัว 2 ปี
ส่วนใบอนุญาตกิจการหลักทรัพย์ก็จะถูกลงด้วย จากเดิม
ที่ขายกัน 50-100 ล้านบาทต่อใบ จะเหลือเพียงใบละ 20 ล้านบาท
แต่ ยังมีอุปสรรคของการเข้าสู่กิจการ (Entry Barrier)
เพราะมีการกำหนดทุนขั้นต่ำไว้ที่ 500 ล้านบาท
เอาความเสี่ยงคืนไป เอาเงินเดือนของเราคืนมา ในปี 2555
เมื่อมีการเปิดเสรีค่าคอมมิชชันแล้ว จะเกิด
(1) เชื่อว่ารูปแบบมาร์เก็ตติงแบบแบ่งกำไรน่าจะยังมีอยู่
แต่จะเป็นระดับโบรกเกอร์ต่อลูกค้าโดยตรง ส่วนวิธีการนั้น
แล้วแต่พิจารณา
(2) มาร์เก็ตติง โดยทั่วไปจะเปลี่ยนสถานะไปเป็นลูกจ้างบริษัท
ทำให้ความเสี่ยงของต้นทุนกลับไปอยู่กับโบรกเกอร์
(3) อาจยังมีมาร์เก็ตติงแบบมีเงินเดือนตายตัว แบ่งกำไรแบบขั้นบันได
ไม่ว่าจะเกิดในรูปแบบใดสำหรับมาร์เก็ตติงในอนาคต
ความเสี่ยงด้านการแบกรับต้นทุนนั้น จะกลับคืนสู่โบรกเกอร์
รายได้จะลดลงในตอนต้น และจะดีดขึ้นในตอนหลัง
หลังลดค่าคอมมิชชันเหลือ 0.25% ในปี 2545
มูลค่าซื้อขายอยู่ที่ 8,390 ล้านบาท/วัน และเพิ่มเป็น
1.89 หมื่นล้านบาท ในปี 2546 เช่นนี้ เราอาจคาดหวังได้ว่า
ในปี 2556 หลังการเปิดเสรีเต็มที่แล้ว มูลค่าซื้อขายต่อวัน
จะเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลทีเดียว
คาดหวังแบบหัวแม่โป้ง (Rule of Thumb) ตอนค่าคอมมิชชัน
อยู่ที่ 0.50% เปิดเสรีเหลือ 0.14% หรือลดลงราว 70%
หากนำ 0.25% ลบออกสัก 70% จะเหลือค่าคอมมิชชันที่ 0.075%
เราเชื่อว่าหลังเปิดเสรีในปี 2555 ค่าคอมมิชชันจะลดลงสู่ 0.075%
แต่จะไม่เกินกว่า 0.14% เฉลี่ยค่าคอมมิชชันจะอยู่ที่ 0.10%
หากอิงตัวเลขนี้ อาจอนุมานได้ว่ามูลค่าซื้อขายในปี 2556 เป็นต้นไป
อาจเพิ่มกว่าตอนนี้ที่ 1.6 หมื่นล้านบาท/วันกว่าเท่าตัว หรืออาจเห็น
3.2 หมื่นล้านบาทนั้นเป็นเรื่องปกติได้ และหากเป็นช่วงเวลาดี
อาจจะสูงถึง 4-5 หมื่นล้านบาท
โครงสร้างรายได้ ค่านายหน้าของโบรกเกอร์ จะลดลง
ในปี 2555 เป็นต้นไป รายได้จะเพิ่มขึ้นใน 2 ส่วน คือ
จะเห็นโบรกเกอร์ซื้อขายหุ้นมากขึ้น (พอร์ตเทรด)
และจะเห็นโบรกเกอร์ปล่อยสินเชื่อเพื่อซื้อมากขึ้น (มาร์จินโลน)
ด้านบุคลากรจะเปลี่ยนแปลง ดังนี้
(1) มาร์เก็ตติงจะกลับมาเป็นลูกจ้างกินเงินเดือนมากขึ้น
แม้อาจยังมีแบบแบ่งกำไรหลงเหลือบ้าง
(2) มาร์เก็ตติงและฝ่ายวิเคราะห์จะรักกันมากขึ้น
เพราะทั้งคู่ต่างก็เป็นต้นทุนหมดแล้ว
(3) ฝ่ายควบคุมความเสี่ยงจะทำงานหนักขึ้น เพราะโบรกเกอร์
จะเสี่ยงมากขึ้นโดยเพราะปล่อยมาร์จินเพิ่ม
(4) อาจเกิดฝ่ายวิเคราะห์สินเชื่อเพื่อให้มาร์จิน
(5) ผู้บริหารเป็นมืออาชีพมากขึ้น
(6) บุคลากรที่ปรับตัวไม่ได้จะ ถูกตลาดขับออกไป
และจะเกิดเลือดใหม่ขึ้น
เมื่อเปิดเสรีแล้ว จะได้ยินคำว่า มาตรฐานของมืออาชีพ
และจรรยาบรรณมากขึ้น
หลังปี 2555 จะเห็นผลกำไรของโบรกเกอร์ กลับมาเติบโต
ได้อย่างก้าวกระโดด ส่วนความเสี่ยงในการทำกำไร
ของเหล่าโบรกเกอร์นั้น ไม่ได้อยู่ที่ว่าค่านายหน้าเปิดเสรี
แต่อยู่ว่าเมื่อมูลค่าซื้อขายมากกว่า 4 หมื่นล้านบาท/วัน
จะส่งผลให้มีผู้เล่นหน้าใหม่ (โบรกเกอร์ใหม่) เข้าสู่ตลาดมากมาย
นั่นแหละถือว่าเป็นความเสี่ยงในอุตสาหกรรมซื้อขายหุ้น
ว่าด้วยประสิทธิภาพการรักษาไว้ซื้อผลกำไร
เราขอจบนิทานเรื่องนี้ด้วยคำถามว่า “การทยอยเปิดเสรีในปี 2553-2554 นั้น
คนในวงการนี้ต้องการก่อให้เกิดต้นทุนในตัวเอง หรือจะสร้างมูลค่าให้ตัวเองหรือ
จะทำอย่างไร? อันนี้เป็นคำถามที่ต้องตอบตัวเอง และจะต้องได้คำตอบก่อนปี 2555 !!!!
ที่มา : โพสต์ ทูเดย์
วันจันทร์ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2552
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
Custom Search
No comments:
Post a Comment