Monday, August 10, 2009

หลักทรัพย์ที่ควรรู้จัก (ตอน 1)

โลกของเราเปลี่ยนแปลงทุกวัน สิ่งหนึ่งที่ไม่เปลี่ยนคือ

คนเราต้องแก่ลง และต้องมีเงินเก็บไว้ใช้ยามเกษียณ

การลงทุนจะช่วยให้เราบรรลุเป้าหมายได้เร็วขึ้น

ขณะเดียวกัน การลงทุนโดยไม่มีความเข้าใจที่มากพอ

ก็อาจทำลายเงินออมทั้งก้อนที่เราเฝ้าอุตส่าห์เก็บมาตลอดชีวิตก็ได้



ในบทความชิ้นนี้ จะเป็นเพียง การแนะนำหลักทรัพย์

ทางการเงินชนิดต่างๆให้เรารู้จักแบบคร่าวๆ หากเราสนใจ

จะลงทุนสินค้าชนิดใด คงต้องไปศึกษาข้อมูล ลึกลงไป

ในหลักทรัพย์นั้นๆ ก่อนตัดสินใจลงทุนจริงๆ


หลักทรัพย์ทางการเงินที่ควรรู้จัก

1. หุ้นสามัญ ( COMMON SHARE , STOCK )

คือ เอกสารที่แสดงสิทธิในความเป็นเจ้าของของบริษัท

หรือ กิจการใดกิจการหนึ่ง วัตถุประสงค์ของบริษัทที่ออกขายหุ้น

เพื่อระดมเงินทุนขยายกิจการ แต่ผู้ซื้อหุ้นหรือผู้ถือหุ้น

มีวัตถุประสงค์ เพื่อหวังผลกำไรจากเงินปันผล และการเพิ่มขึ้น

ของราคาหุ้น การเป็นผู้ถือหุ้น ยังทำให้เรามีสิทธิมีส่วน

ในการกำหนดแนวนโยบายของบริษัท แต่สิทธิดังกล่าวจะมากน้อย

เพียงใด ขึ้นกับว่า เราถือหุ้นบริษัทนั้นมากน้อยเพียงใดด้วย

2. หุ้นบุริมสิทธิ์ ( PREFERED SHARE )

คือหุ้น ประเภทหนึ่ง ที่ให้สิทธิพิเศษ แก่ผู้ถือหุ้น มากกว่า

หุ้นสามัญ อย่างน้อยสองประการ คือ

ประการแรก มีสิทธิรับเงินปันผล ในอัตราที่แน่นอนก่อนผู้ถือหุ้นสามัญ

เงินปันผลที่ไม่จ่ายในปีปัจจุบัน ก็ให้สะสมไปจ่ายในอนาคตได้

ขึ้นกับข้อกำหนดในการออกหุ้นบุริมสิทธิ์ในครั้งนั้นๆ

ประการที่สอง หากบริษัทต้องเลิกกิจการ ผู้ถือหุ้นมีสิทธิ

ได้รับการแบ่งทรัพย์สินก่อนผู้ถือหุ้นสามัญ โดยทั่วไป

บริษัทจะออกหุ้นบุริมสิทธิ์ ในภาวะที่บริษัทเกิดวิกฤต

ระดมเงินทุนไม่ได้ จึงต้องจูงใจผู้คน โดยให้สิทธิพิเศษ

มากกว่าผู้ถือหุ้นเดิม แต่บริษัทมักกำหนดให้ ผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิ์

ไม่มีสิทธิ ในการออกเสียง และไม่มีสิทธิในการรับเลือกตั้ง

เป็นกรรมการบริษัท

3. หุ้นกู้ ( DEBENTURE , CORPORATE BOND )

คือ เอกสารที่แสดงสิทธิเป็นเจ้าหนี้ของบริษัท หรือ กิจการใดกิจการหนึ่ง

บริษัทออกหุ้นกู้ เพื่อระดมทุนขยายกิจการ แต่ทำในรูปของการกู้ยืม

ประชาชนโดยกำหนดระยะเวลา และอัตราดอกเบี้ยที่แน่นอน

(ว่าเป็นคงที่หรือลอยตัวตามอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง ) โดยทั่วไป

หุ้นกู้จะมีอายุ 3-7 ปี ดอกเบี้ยมักสูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากธนาคาร

แต่เป็นการกู้ที่ไม่มีหลักประกัน การจ่ายดอกเบี้ยจะจ่ายเป็นงวดๆ

เมื่อครบกำหนดผู้ลงทุนจะได้รับเงินต้นคืน

บริษัทเลือกจะกู้เงินจากประชาชนโดยตรง เพราะอัตราดอกเบี้ย

ถูกกว่าการกู้เงินจากธนาคาร ระยะเวลากู้ยาวนานกว่า ทำให้บริหารเงิน

ได้ง่าย หรือ อยู่ในภาวะที่ธนาคาร อาจไม่ยอมปล่อยกู้เพิ่มเติมให้แล้ว

จึงต้องหาช่องทางกู้เงินจากประชาชนแทน

ส่วนผู้ลงทุนซื้อหุ้นกู้ เพราะ ต้องการผลตอบแทนที่สูงกว่าฝากธนาคาร ,

มีผลตอบแทนคงที่ และยังสามารถทำกำไรได้จากการขายหุ้นกู้

ในกรณีที่อัตราดอกเบี้ยในตลาดมีแนวโน้มลดลง หุ้นกู้จะมีราคาสูงขึ้น

หุ้นกู้มีหลายประเภท เช่น

- หุ้นกู้แปลงสภาพ คือ หุ้นกู้ที่ได้รับสิทธิพิเศษ

สามารถเลือกแปลงสภาพเป็นหุ้นสามัญได้ หรือจะถือ

เป็นหุ้นกู้ต่อเพื่อรับดอกเบี้ยตามที่ระบุไว้ จนครบกำหนดก็ได้

ผู้ลงทุนจะใช้สิทธิ แปลงสภาพก็ต่อเมื่อราคาหุ้นสามัญ

อยู่สูงกว่าราคาแปลงสภาพ

- หุ้นกู้มีหลักประกัน คือ หุ้นกู้ที่มีสถาบันการเงิน หรือ

บริษัทอื่นที่มั่นคงกว่ามาค้ำประกันหนี้สินให้ หรือ บริษัทผู้ออกหุ้นกู้

อาจยินยอมให้เอาทรัพย์สิน เช่น ที่ดิน ,ตัวโรงงาน มาค้ำประกันหนี้สิน

- หุ้นกู้ด้อยสิทธิ์ คือหุ้นกู้ที่กำหนด ให้มีสิทธิเรียกร้องต่อบริษัท

เป็นลำดับท้ายๆในกลุ่มหุ้นกู้ด้วยกันในกรณีที่บริษัทปิดกิจการลง

แต่มักให้ดอกเบี้ยสูงมาก

หมายเหตุ ลำดับสิทธิ์ในการเรียกร้องต่อสินทรัพย์ของบริษัท

ในกรณีที่บริษัทใดบริษัทหนึ่งปิดกิจการ คือ รัฐบาล ( กรมสรรพากร ) ,

พนักงาน ลูกจ้าง , เจ้าหนี้หรือผู้ถือหุ้นกู้มีหลักประกัน , เจ้าหนี้การค้า ,

เจ้าหนี้ทั่วไป , ผู้ถือหุ้นกู้ , หุ้นกู้ด้อยสิทธิ์ , หุ้นบุริมสิทธิ์ และหุ้นสามัญ

4. สลิปส์ - แคปส์ ( SLIPS , CAPS ) คือ หุ้นบุริมสิทธิ์

ควบหุ้นกู้ด้อยสิทธิ์ ที่สถาบันการเงิน นำออกมาขายระดมทุน

ในช่วงเกิดวิกฤตการณ์ทางการเงิน เนื่องจากไม่สามารถเพิ่มทุน

ในรูปของหุ้นสามัญได้ จึงระดมทุนในรูปหุ้นบุริมสิทธิ์ ที่มีหุ้นกู้

ด้อยสิทธิ์ดอกเบี้ยสูงถึง 22 % มาจูงใจ โดยคาดการณ์ว่า

ในช่วง 5 ปีแรก บริษัทคงยังไม่มีกำไร มาจ่ายเงินปันผล

ให้หุ้นบุริมสิทธิ์ ดอกเบี้ยรับเฉลี่ยจึงตกปีละ 11 % เมื่อครบ

5 ปีสถาบันการเงินเหล่านี้มีสิทธิไถ่ถอนหลักทรัพย์ดังกล่าวได้

5. พันธบัตร ( GOVERNMENT BOND ) คือ หุ้นกู้

ที่ออกโดยรัฐบาล หรือรัฐวิสาหกิจโดยมีรัฐบาลค้ำประกัน

ความเสี่ยง จากการไม่ได้เงินลงทุนคืนจึงแทบไม่มี ดอกเบี้ย

มักจะต่ำกว่าหุ้นกู้ทั่วไป แต่ยังคงสูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากธนาคาร

เนื่องจากระยะถือครองยาวนานกว่า

6. วอร์แรนท์ ( WARRANT ) คือ เอกสารแสดงสิทธิ

ในการซื้อหุ้นสามัญในอนาคต ในจำนวนและราคาที่กำหนดไว้

บริษัทมักออกวอร์แรนท์ เพื่อจูงใจผู้ถือหุ้นในกรณีต้องการเพิ่มทุน

โดยอาจจะให้ฟรี หรือ จำหน่ายในราคาถูก ผู้ถือวอร์แรนท์จะใช้สิทธิ

ก็ต่อเมื่อราคาหุ้นสามัญ สูงกว่าราคาใช้สิทธิแปลงสภาพ โดยที่

ต้นทุนในการถือวอรํแรนท์ ต่ำกว่าหุ้นสามัญ แต่ การเปลี่ยนแปลง

ของราคาใกล้เคียงกับหุ้นสามัญ จึงถือเป็นหลักทรัพย์

ที่มีความผันผวนของราคาสูงมาก

7. สัญญาสิทธิ์ ( OPTION ) คือ เอกสารแสดงสิทธิที่จะซื้อ

หรือ ขายทรัพย์สินที่ระบุไว้ โดยไม่บังคับว่าต้องซื้อ หรือขาย

ตามที่ระบุไว้นั้น โดยทั่วไปตราสารนี้จะระบุเงื่อนไขต่างๆ เช่น

วันที่ใช้สิทธิ์ ราคาหรือจำนวนของตราสาร ที่ผู้ถือสามารถใช้สิทธิ์

ซื้อหรือขายให้

สิทธิ์ในการซื้อหลักทรัพย์ที่ระบุไว้ เรียกว่า CALL OPTION

สิทธิ์ในการขายเรียกว่า PUT OPTION

วอร์แรนท์จัดเป็นสัญญาสิทธิ์ชนิด CALL OPTION

8. สัญญาซื้อขายล่วงหน้า ( FORWARD หรือ FUTURE )

คือ สัญญา หรือข้อตกลงที่ผู้ถือหุ้น และผู้ออกตราสาร ต้องดำเนิน

การซื้อหรือขาย และส่งมอบทรัพย์สินตามราคาและจำนวนที่ระบุไว้

ณ วันสิ้นสัญญา เป็นการเก็งกำไร ภาวะการณ์ในอนาคตที่มีความเสี่ยง

สูงสุด เนื่องจากถูกบังคับให้ปฎิบัติตามสัญญาซึ่งกำหนดไว้ล่วงหน้าแล้ว

9. บัตรเงินฝาก ( NEGOTIABLE CERTIFICATE
OF DEPOSIT / NCD )


คือตราสารชนิดหนึ่ง ที่มีลักษณะคล้ายการฝากเงินแบบประจำ

ที่ธนาคารพาณิชย์ออกให้แก่ผู้ฝากเงิน ต่างจากการฝากประจำ

ตรงที่สามารถเปลี่ยนมือ จากคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่งได้

และจำนวนเงินขั้นต่ำในการฝากเงินอยู่ที่ 5 แสนบาท

โดยระยะเวลาที่ฝากจะอยู่ระหว่าง 3 เดือนถึง 3 ปี แล้วแต่

จะกำหนด ผู้ถือจะได้รับเงินต้น และดอกเบี้ยทั้งหมดก็ต่อเมื่อ

ถือจนครบกำหนด ดังนั้นผลตอบแทนจึงมักมากกว่าการฝากประจำ

10. ตั๋วสัญญาใช้เงิน ( PROMISSORY NOTE / P/N )

เป็นหนังสือ ซึ่งผู้ออกตั๋วให้คำมั่นสัญญาว่าจะใช้เงินจำนวนหนึ่ง

ให้แก่บุคคลหนึ่ง คล้ายๆการเขียนเช็คล่วงหน้า เพียงแต่ผู้ออกตั๋ว

ต้องอยู่ในรูปของบริษัท และตั๋วเงินนี้ต้องติดอากรแสตมป์ให้เรียบร้อย

แต่ความหมายของตั๋วสัญญาใช้เงิน ในท้องตลาดหมายถึง ตั๋วเงินที่

บริษัทเงินทุนและบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ จะออกให้กับผู้ฝากเงิน

ซึ่งมักให้อัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าการฝากธนาคาร การฝากเงินสามารถ

ฝากได้ตั้งแต่ 10,000 บาทขึ้นไป ตามกำหนดเวลาที่ต้องการ

11. ตั๋วแลกเงิน ( BILL OF EXCHANGE / B/E )

เป็นตั๋วเงินชนิดหนึ่งที่ออกโดยบริษัทจำกัด ที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน

เพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนระยะสั้น 3 - 12 เดือนมีอัตราผลตอบแทน

สูงกว่า ดอกเบี้ยเงินฝากธนาคาร และตั๋วสัญญาใช้เงิน ( P/ N )

ของบริษัทเงินทุน

บริษัทเอกชน นิยมออกตั๋วแลกเงินแทนหุ้นกู้ เพื่อหลีกเลี่ยง

การเปิดเผยข้อมูลของบริษัทต่อสาธารณชน และไม่ต้องการ

เสียเวลา และค่าใช้จ่าย ในการว่าจ้างบริษัทจัดอันดับเครดิต

มาจัดทำอันดับความน่าเชื่อถือให้ เหมือนการจำหน่ายหุ้นกู้

ตามปกติ บริษัทจะออกตั๋วแลกเงิน เพื่อใช้หมุนเวียน

ในธุรกิจการค้า มากกว่าใช้เป็นเครื่องมือ ในการระดมทุน

ระยะยาว แต่ระยะหลัง เริ่มมีบริษัทบางแห่งใช้ตั๋วแลกเงิน

ในการระดมทุนระยะยาว โดยขยายเวลาเป็น 3 ปี

เพื่อทดแทนการออกหุ้นกู้

ตั๋วแลกเงิน สามารถซื้อขายเปลี่ยนมือได้ มีระยะเวลา

ไถ่ถอนสั้นกว่าตราสารอื่น ทำให้เกิดความคล่องตัว บริหารได้ง่าย

และบริษัทที่ออกตั๋วแลกเงินมักเป็นบริษัทขนาดใหญ่ จึงได้รับ

ความนิยมจากนักลงทุนสถาบัน เช่น บริษัทหลักทรัพย์จัดการ

กองทุนรวมและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

ตั๋วแลกเงิน จะมีธนาคารพาณิชย์ค้ำประกัน ( อาวัล )

ให้หรือไม่ก็ได้ หากผู้ออกตั๋วต้องการให้ตั๋วแลกเงินของตน

ดูน่าเชื่อถือและได้รับความนิยม ก็ให้ธนาคารค้ำประกัน

โดยในการนี้ ต้องเสียค่าใช้จ่ายบางส่วนให้ธนาคาร

12. ตั๋วเงินคลัง ( TREASURY BILL ) คือ ตราสารทางการเงิน

ที่รัฐบาลโดยกระทรวงการคลังเป็นผู้ออก เพื่อกู้ยืมเงินระยะสั้นๆ

ไม่เกิน 1 ปี จากสถาบันการเงินในประเทศ จำหน่ายโดยวิธีประมูล

ซึ่งกระทรวงการคลัง ได้มอบหมายให้ธนาคารแห่งประเทศไทย

เป็นผู้จัดการประมูลแทน ผู้มีสิทธิเข้าร่วมประมูลได้แก่

สถาบันการเงินต่างๆ เช่น ธนาคาร , บริษัทเงินทุน , บริษัทหลักทรัพย์ ,

บริษัทประกันภัย , บริษัทประกันชีวิต , กองทุนรวมและกองทุน

สำรองเลี้ยงชีพ โดยจะจัดสรรให้แก่ผู้ที่เสนอผลตอบแทนต่ำสุดก่อน

แล้วจึงจัดสรรให้ผู้ประมูลที่เสนอผลตอบแทนสูงขึ้นตามลำดับ

จนกว่าจะครบวงเงิน

13. กองทุนรวมตราสารหนี้ ( FIXED INCOME FUND / BOND FUND )

คือ กองทุนรวมที่บริษัทจัดการกองทุน จะนำเงินของผู้ลงทุนไปซื้อหุ้นกู้ ,

พันธบัตรรัฐบาล ตั๋วแลกเงิน ตั๋วสัญญาใช้เงินและเงินฝากเป็นหลัก

เหมาะกับผู้ออมเงินรายย่อยที่ต้องการความเสี่ยงต่ำ และต้องการ

สภาพคล่องในการขายหน่วยลงทุน แต่ต้องยอมรับว่าผลตอบแทน

ของเราส่วนหนึ่งจะถูกหักเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหาร คิดแล้ว

ประมาณ 1 % ของเงินลงทุน

14. กองทุนรวมตราสารทุน ( EQUITY FUND )

คือ กองทุนรวมที่บริษัทจัดการกองทุน จะนำเงิน

ของผู้ลงทุนไปซื้อหุ้นเป็นหลัก ( บางกองทุนอาจลงทุน

ในวอร์แรนท์ด้วย ) เหมาะกับนักลงทุน รายย่อย

ที่ไม่มีความรู้เรื่องการลงทุน แต่ต้องการผลตอบแทนสูง

ขณะเดียวกันต้องยอมรับว่ามีความเสี่ยงสูงด้วย

15. กองทุนเพื่อการลงทุนในต่างประเทศ

( FOREIGN INVESTMENT FUND /FIF )
เป็นกองทุน

ที่ได้รับอนุญาตให้ไปลงทุนในต่างประเทศได้ เป็นการเปิดโอกาส

ให้นักลงทุน สามารถแสวงหาแหล่งลงทุนที่มีผลตอบแทนที่ดีกว่า

เป็นการกระจายความเสี่ยง จากความไม่แน่นอนของอัตราแลกเปลี่ยน

และภาวะเศรษฐกิจในประเทศ โดยทางการได้เปิดให้เริ่มลงทุน

ได้ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2545 เฉพาะกองทุนรวม

ที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น

16. กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ( PROPERTY FUND )

คือ กองทุนรวมที่บริษัทจัดการกองทุน จะนำเงินของผู้ลงทุน

ไปซื้ออาคารสำนักงาน หรืออาคารที่พักอาศัย ที่อยู่ในทำเล

ที่ดีใจกลางเมือง และมีผู้เช่าตั้งแต่ 80 % ขึ้นไป มีรายได้

จากการเช่าสม่ำเสมอ สามารถสร้างผลตอบแทนในรูป

ของค่าเช่าหลังหักค่าใช้จ่ายแล้วประมาณ 8-10 % ต่อปี

ซึ่งกำไรสุทธินี้จะถูกนำไปจ่ายคืนให้ผู้ลงทุนในรูปของ

เงินปันผล และยังมีโอกาสทำกำไร เพิ่มได้จากการ

ขายอาคารต่อ หากมีผู้สนใจจะซื้ออาคารนี้ในอนาคต

โดยทั่วไปหน่วยลงทุนของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์

จะต้องถูกนำเข้าไป จดทะเบียน ในตลาดหลักทรัพย์

เพื่อให้ผู้ถือหน่วยลงทุนสามารถขายทำกำไร หรือเปลี่ยน

เป็นเงินสดได้ ขณะที่นักลงทุนอื่น ที่ยังไม่ได้ซื้อ

หน่วยลงทุนนี้ตั้งแต่แรก ก็สามารถไปซื้อ

หน่วยลงทุนนี้ได้ในตลาดหลักทรัพย์

No comments:

Post a Comment

Custom Search

Followers