ทำไมต้องมีตลาดหุ้น : นรินทร์ โอฬารกิจอนันต์
"ตลาดหุ้น" ที่ชาวบ้าน ซื้อขายหุ้นกันอยู่ ทุกวันนี้
จัดอยู่ในประเภท ตลาดรอง (Secondary Market)
ของตลาดทุน ส่วน ตลาดหลัก (Primary Market) จริงๆ
ของตลาดทุน ซึ่งเป็นตลาดที่ กิจการทั้งหลาย
ใช้ระดมทุนเพื่อขยายกิจการ คือ "ตลาด IPO"
หรือที่เรานิยมเรียกกันติดปากว่า "หุ้นจอง"
เมื่อกิจการขายหุ้นจอง เงินที่ได้ จะเข้าบริษัท
เพื่อนำไปใช้ในกิจการ หลังจากนั้น บริษัทก็มักจะนำ
หุ้นของบริษัทbเข้าไปจดทะเบียนbในตลาดหุ้น
เพื่อให้หุ้นของบริษัทbกลายเป็นสินค้าตัวหนึ่ง
ที่สามารถ ซื้อขายเปลี่ยนมือ ในตลาดหุ้นได้
หลังจากนี้แล้ว การซื้อขายหุ้นของบริษัทในตลาดหุ้น
จะเป็นเพียงแค่การเปลี่ยนมือ ไปมาระหว่างนักลงทุนเท่านั้น
ไม่ได้มีเม็ดเงิน เข้าสู่บริษัทเพื่อนำไปใช้ในกิจการอีกต่อไป
นั่นคือ สิ่งที่ใช้แยกความแตกต่าง ระหว่างตลาดหลัก
กับตลาดรองก็คือ เมื่อมีการขายหุ้นแล้ว เงินไปไหน
ถ้าเป็นตลาดหลัก เงินจะเข้าสู่บริษัท
แต่ถ้าเป็นตลาดรอง เงินจะเข้ากระเป๋าผู้ที่ขายหุ้น
ประเด็นนี้ ทำให้มีบางคน กล่าวหาตลาดหุ้น
ว่า...ไม่ได้สร้างประโยชน์ให้กับสังคม
เพราะเงิน ไม่ได้เข้าบริษัท เพื่อก่อให้เกิดการลงทุน
ในระบบเศรษฐกิจจริงๆ เงินเพียงแต่ไหลจากกระเป๋า
ของนักลงทุนคนหนึ่ง ไปยังกระเป๋าของนักลงทุน
อีกคนหนึ่งไปเรื่อยๆ เท่านั้น และนักลงทุนในตลาดหุ้น
ก็หากิน ด้วยการซื้อหุ้นมาในราคาหนึ่ง แล้วขายออกไป
ในราคาที่สูงกว่า แล้วเก็บกำไรเข้ากระเป๋า บางคนถึงกับ
บอกว่า น่าจะยกเลิก ตลาดหุ้นไปเลย
เหลือไว้แต่ตลาด IPO ก็พอ
นั่นเป็น ความคิด ของคนที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์
ลองคิดดูว่า ถ้าหากไม่มีตลาดรอง
ตลาดหลักจะอยู่ได้หรือไม่ คงแทบไม่เหลือ
นักลงทุนคนไหน ที่จะกล้าซื้อหุ้นจองจากบริษัท
อีกต่อไป เพราะนักลงทุนเหล่านั้นย่อมรู้ว่า
เมื่อซื้อมาแล้ว จะไม่สามารถขายหุ้นนั้น ต่อให้ใครได้
หรือถ้าขายได้ ก็ต้องขายขาดทุนมากๆ เพื่อให้มี
ใครสักคนยอมซื้อ ดังนั้นเหตุผลที่แท้จริง ที่ต้องมี
ตลาดหุ้น ก็เพื่อให้ตลาดหลัก สามารถดำรงอยู่ได้นั่นเอง
บางคน คิดว่าการที่รถยนต์มีตลาดมือสองนั้น ทำให้
ตลาดมือหนึ่งแย่ลง เพราะตลาดมือสอง จะแย่งลูกค้าส่วนหนึ่ง
ของตลาดมือหนึ่งไป แต่ที่จริงแล้ว ลองคิดดูว่า ถ้าผู้บริโภค
ซื้อรถยนต์มาแล้ว ห้ามขายต่อโดยเด็ดขาด จะมีผู้บริโภค
ที่กล้าซื้อรถยนต์มือหนึ่งมากขึ้นหรือน้อยลง
ทุกวันนี้ มีคนส่วนหนึ่งที่กล้าซื้อรถใหม่บ่อยๆ ก็เพราะเขารู้ว่า
เขาสามารถขายต่อ ในตลาดมือสองเมื่อไรก็ได้
ขาดทุนนิดหน่อย แสนสองแสนถือว่ากำไรใช้
เลยทำให้ตลาดรถใหม่ขายดี ฉันใดก็ฉันนั้น
ตลาดรอง ช่วยส่งเสริมตลาดหลัก ด้วยการทำให้สินค้า
ของตลาดหลัก กลายเป็นสินค้าที่มีสภาพคล่องสูง
คนที่ซื้อหุ้นจองไปแล้ว หากวันดีคืนดีเกิดมีความจำเป็น
ต้องใช้เงินด่วนขึ้นมาก็ไม่ต้องกลัวว่าจะขายต่อให้ใครไม่ได้
มีบางคนอยากเห็นตลาดหุ้น มีแต่นักลงทุนระยะยาวอย่างเดียว
ไม่มีนักเก็งกำไรระยะสั้น เพราะพวกเขามีทัศนคติในแง่ลบกับ
คำว่า "เก็งกำไร" แต่ที่จริงแล้ว ลองคิดดูให้ดี ถ้าในตลาดหุ้น
มีแต่นักลงทุนทั้งหมด ไม่มีใครเป็นนักเก็งกำไรเลย
สภาพคล่องในตลาดหุ้น คงหายไปมากกว่า 95%
ถ้าการขายหุ้นออก ในตลาดหุ้น กับการไปเร่ขายหุ้น
ด้วยตนเองนอกตลาดหุ้น มีความยากลำบากเท่ากัน
เพราะหาคนซื้อได้ยาก ก็ไม่รู้ว่าจะมีตลาดหุ้นเอาไว้เพื่ออะไร
ดังนั้น ตลาดหุ้นที่มีคุณค่าต้องเป็นตลาด ที่มีคนจำนวนหนึ่ง
ในตลาดยินดีที่จะซื้อหรือขายหุ้นบ่อยๆ โดยแลกกับโอกาส
ทำกำไรเล็กๆ น้อยๆ ทุกวันเพื่อสร้างสภาพคล่อง
ให้กับคนที่เป็นนักลงทุน กล่าวคือทำให้คนที่เป็นนักลงทุน
ระยะยาวสามารถขายหุ้นออกได้เสมอ (โดยไม่ต้องขายขาดทุนมากๆ)
เมื่อใดก็ตาม ที่พวกเขามีความจำเป็นที่จะต้องใช้เงิน
แบบเร่งด่วน พูดง่ายๆ ก็คือการซื้อๆ ขายๆ ของนักเก็งกำไร
ช่วยลด liquidity risk ให้กับคนที่เป็นนักลงทุนนั่นเอง
โดยส่วนตัว ผมไม่เห็นด้วย กับแนวคิดที่ว่า
เป้าหมายของการพัฒนานักลงทุนรายย่อย
คือการทำให้นักลงทุนรายย่อย หันมาลงทุน
ระยะยาวกันให้หมด สิ่งที่ผมอยากเห็นมากกว่า
คือทำอย่างไร นักลงทุนรายย่อยจึงจะเป็นนักลงทุน
ที่มีภูมิต้านทาน กล่าวคือ ตัดสินใจจากข้อมูล
ที่สามารถตรวจสอบแหล่งที่มาได้เป็นหลัก
ไม่ถูกชักจูงไปได้ง่าย ไม่เชื่อข่าวลือข่าวปล่อยต่างๆ
ไม่แห่ตามกันโดยขาดวิจารณาณของตนเอง
ส่วนจะเป็นนักเก็งกำไรระยะสั้น นักเทคนิค
หรือนักลงทุนระยะยาวนั้น ผมกลับคิดว่า
ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ นักลงทุนทุกแบบ
ล้วนแต่มีคุณค่าต่อตลาดทุนทั้งสิ้น หากตั้งใจ
จะเป็นนักเทคนิคก็ควรศึกษาเทคนิคให้จริงจัง
คนที่เล่นสั้นหลายคนที่ผมรู้จัก เป็นคนที่ไม่ยอม
เชื่ออะไรง่ายๆ ผมก็ไม่เคยรู้สึกเป็นห่วงพวกเขาเลย
เพราะผมมั่นใจว่า คนนิสัยแบบนี้ จะสามารถ
เอาตัวรอดในตลาดหุ้นได้อย่างแน่นอน
No comments:
Post a Comment