Money Game : พลังขับเคลื่อนราคาหุ้น
ผมมีโอกาสเร็วๆ นี้ เป็นวิทยากร ในเรื่อง
Value creation through valuation
ให้กับตลาดหลักทรัพย์ใหม่ (MAI)
ซึ่งเป็นหัวข้อเกี่ยวกับการเพิ่มมูลค่าหุ้นได้อย่างไร
เป็นที่ทราบดีอยู่แล้วว่า ส่วนใหญ่ของราคาหุ้น
ถูกขับเคลื่อน ด้วยผลประกอบการ หรือกำไร
ของบริษัทนั้นว่า สามารถส่งกับผู้ถือหุ้นเท่าไร
แต่อย่างไรก็ตาม มีหลายกรณีเลยทีเดียว
ที่บริษัทจดทะเบียน มีกำไรแต่เป็นกำไรเทียม
และบริษัทนั้น กลับขาดสภาพคล่อง
ต้องเพิ่มทุนอยู่สม่ำเสมอ
ในวงการนักวิเคราะห์ จะมีเครื่องมือวัดความสามารถ
ในการทำกำไร ของบริษัทจดทะเบียน ได้ดีกว่า
กำไรต่อหุ้น (Earnings per share) ซึ่งเครื่องมือนั้น
ก็คือ ผลตอบแทนต่อเงินลงทุน (Returns on capital employed)
หมายความว่า การลงทุนในหุ้นนั้น จะเพิ่มมูลค่าการลงทุน
ให้กับผู้ถือหุ้น หรือเป็น Enhancing shareholders value
เมื่อบริษัท สามารถลงทุน ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า
ต้นทุนทางการเงิน ซึ่งเป็นผลเฉลี่ยของต้นทุนหนี้
และต้นทุนของเงินลงทุน (Weighted overage cost of capital)
ในทางสูตรทางการเงิน ผลตอบแทนต่อเงินลงทุน
สามารถเขียนเป็นสูตรได้คือ กำไรจากการดำเนินงาน
(Operating profit) หารด้วยทุนดั้งเดิม บวกด้วย หนี้สินสุทธิ
ถ้าตัวเลขที่คำนวณได้มากกว่า 15% ขึ้นไป
ผมถือว่าบริษัทให้ผลตอบแทนในการลงทุนได้ดีเลยทีเดียว
ยิ่งถ้าตัวเลขถึง 20%-30% หุ้นตัวนั้นต้องซื้อเลยทันที
เพราะโดยปกติ ต้นทุนทางการเงินของผู้ถือหุ้น จะอยู่ในช่วง
10-14% หุ้นที่มีผลตอบแทนต่อเงินลงทุน (Return on capital employed)
สูงจะต้องมี 2 ปัจจัยเป็นตัวขับเคลื่อน
ปัจจัยแรก คือ การหมุนของสินทรัพย์ถาวร
หรือ Asset Turnover ประกอบด้วย ยอดขาย
(Sales revenues) หารด้วยสินทรัพย์ถาวร (Fixed assets)
ปัจจัยนี้เป็นปัจจัยที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
บริษัทที่มีขนาดเล็ก ถ้าสามารถหมุนทรัพย์สินถาวรของตนเอง
ให้เร็วเท่าไร กระแสเงินสดจะเกิดขึ้นเท่านั้น
กรณีศึกษานี้ สามารถดูได้จากหุ้นกลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์
แห่งหนึ่ง ที่เปลี่ยนธุรกิจ จากการขายวัสดุก่อสร้าง
มาเป็นผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ ติดอันดับหนึ่งในห้า
ของบริษัทจดทะเบียนหลักทรัพย์เลยทีเดียว
โดยบริษัทแห่งนี้เริ่มจากมีที่ดินเล็กๆ ผืนหนึ่ง
แล้วได้พัฒนาทาวน์เฮ้าส์ขึ้นมา จากนั้นเอาเงินที่ได้
จากการขายทาวน์เฮ้าส์มาพัฒนาที่ดินต่อ
และปีหนึ่งทำ 4-5 โครงการ โดยอาศัยการขาย
และการหมุนของสินทรัพย์ที่เร็ว และเป็นลักษณะ
เงินต่อเงิน ในที่สุด Market capitalization ของบริษัทนี้
ได้เพิ่มขึ้นจากไม่กี่ร้อยล้านบาท มาอยู่ที่ 5-6 พันล้านบาท
เลยทีเดียว สุดท้ายความมั่งคั่งของผู้ถือหุ้นก็เพิ่มขึ้น
ปัจจัยที่สอง กำไรจากการดำเนินงานสุทธิ (Operating profit margin)
จากสองปัจจัยดังกล่าว ถ้าเรายกตัวอย่างเช่น บริษัทต้องการ
มีเป้าหมายที่มีผลตอบแทนต่อการลงทุนที่ 30%
ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงพอดู บริษัทสามารถทำได้ดังนี้
คือกรณีที่หนึ่ง กำไรจากดำเนินงานสุทธิ 10%
และมีการหมุนของสินทรัพย์ 3 ครั้งต่อปี หรือ
กรณีที่สอง กำไรจากดำเนินงานสุทธิ 5%
และมีการหมุนเวียนของสินทรัพย์ 6 ครั้งต่อปี หรือ
กรณีที่สาม กำไรจากดำเนินงานสุทธิ 2%
แต่ต้องมีการหมุนเวียนของสินทรัพย์ 15 ครั้งต่อปี
ในกรณีต่างๆ เหล่านี้ เราสามารถสรุปได้ว่า
ถ้าเราพบหุ้นตัวไหนที่มีกำไรจากดำเนินงานสูง
และมีการหมุนสินทรัพย์ถาวรที่สูง หุ้นตัวนั้น
มีความน่าสนใจในการลงทุนมากเลยทีเดียว
ขอขอบคุณ :
http://www.bloggang.com/viewblog.php?id=hoonvi&date=20-04-2006&group=5&gblog=54
No comments:
Post a Comment