Mr.Soros and his Reflexivity
จอร์จ โซรอส มีแนวคิดว่า ตลาดหุ้นทำงานอย่างไร
ที่ค่อนข้างแตกต่างจากคนอื่น เขาเรียกโมเดลของเขา
ว่า Reflexivity…
โซรอสมองว่า ในตลาดหุ้น จะมีความลำเอียงหลัก
ของตลาดอยู่เสมอ นักลงทุนแต่ละคน ต่างมีความลำเอียง
เป็นของตัวเอง ซึ่งแรงซื้อแรงขาย จะทำให้ความลำเอียง
เหล่านั้นหักล้างกันไปส่วนหนึ่ง แต่ไม่ว่าจะหักล้างกันยังไง
ก็จะยังเหลือความลำเอียงส่วนหนึ่ง ที่หักล้างไม่หมด
และกลายเป็นความลำเอียงหลัก ที่ครอบงำทั้งตลาด
ในขณะนั้นๆ อยู่ ความลำเอียงหลัก ทำให้ตลาด
ไม่เคยอยู่ที่จุดสมดุล มีแต่มากไปกับน้อยไป ราคาหุ้น
จะเคลื่อนตัว ไปตามแนวโน้มที่แท้จริง ของมัน
ซึ่งขึ้นอยู่กับปัจจัยพื้นฐาน บวกด้วยความลำเอียงหลัก
ที่ทำให้ราคาหุ้น ขึ้นหรือลง มาก หรือน้อยกว่า
ที่ควรจะเป็นตามปัจจัยพื้นฐาน
แต่แค่นั้นยังไม่พอ การเปลี่ยนแปลงของราคาหุ้น
ที่เกิดขึ้น จะย้อนกลับมา มีอิทธิพล กับแนวโน้ม
ที่แท้จริงและความลำเอียงหลักอีกที ทำให้ความสัมพันธ์
ระหว่างแนวโน้มที่แท้จริงกับ ความลำเอียงหลัก
ที่มีต่อราคาหุ้น ไม่ใช่ความสัมพันธ์แบบทางเดียว
แต่เป็นความสัมพันธ์แบบสองทิศทาง พูดง่ายๆ ก็คือ
ยิ่งราคาหุ้นขึ้น ความลำเอียงของตลาดว่าหุ้นขึ้น
จะยิ่งมากขึ้น และทำให้ราคาหุ้นยิ่งขึ้นต่อไปอีก
การที่มุมมองของนักลงทุน ส่งผลต่อราคาหุ้นแล้ว
ทำให้ราคาหุ้น กลับมาส่งผล ต่อมุมมองของนักลงทุนอีกที
นี้เองที่โซรอสเรียกว่า Reflexivity ในตลาดหุ้น
ปฏิสัมพันธ์แบบสองทางนี้ ทำให้การทำนายราคาหุ้น
เป็นเรื่องที่ทำได้ยากมาก
ถ้าเรามีสมมติฐาน เกี่ยวกับกลไกในตลาดหุ้นว่าเป็นแบบนี้
เมื่อใดที่มุมมองของนักลงทุน กับการเปลี่ยนแปลงของราคาหุ้น
มีลักษณะส่งเสริมกันเอง เมื่อนั้นราคาหุ้น จะวิ่งออก
จากปัจจัยพื้นฐานออกไปเรื่อยๆ ทำให้เกิดฟองสบู่
และจะเป็นเช่นนั้นอยู่ จนกว่าพวกมันจะขัดขากันเอง ซึ่งจะทำ
ให้เกิด market correction ขึ้น ตลาดหุ้นจึงมีแนวโน้มที่จะมี
boom และ burst อยู่ร่ำไป แทนที่จะพยายามวิ่งเข้าสู่
จุดสมดุลเองตลอดเวลา เหมือนอย่างที่ทฤษฏีทางการเงินบอกไว้
และกลยุทธ์ของโซรอส ก็คือการพยายามทำกำไรจาก
boom และ burst เหล่านี้
โซรอสบอกว่าพวก neoclassical คิดถูกที่เชื่อว่า
ตลาดเสรีดีที่สุด แต่ผิดตรงที่เชื่อว่า ตลาดเสรีมีเสถียรภาพ
ส่วนพวก keynesians นั้นผิดตรงที่เชื่อว่า การแทรกแซง
โดยรัฐฯ จะช่วยสร้างเสถียรภาพได้ โซรอสเชื่อว่า
นั่นจะยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง ตลาด unstable อยู่แล้ว
โดยธรรมชาติและไม่มีอะไรที่จะเปลี่ยนมันได้
แนวคิดที่สำคัญมากของ Reflexivity คือ ราคาหุ้น
ส่งอิทธิพลต่อปัจจัยพื้นฐานได้ด้วย ไม่ใช่ปัจจัยพื้นฐาน
ส่งผลต่อราคาหุ้นอย่างเดียว เช่น บริษัทที่ใช้ M&A
เป็นกลยุทธ์ในการเติบโต ถ้าราคาหุ้นของบริษัทสูงลิ่ว
บริษัทย่อมสามารถระดมทุนได้ในราคาต่ำ ทำให้มีเงินต้นทุนต่ำ
มาซื้อกิจการ ซึ่งจะยิ่งทำให้กำไรเติบโตได้ง่ายขึ้น
หรือในช่วงเวลาที่ตลาดอสังหาตกต่ำ ถ้าอยู่ดีๆ
ตลาดหุ้นขึ้นแรง เนื่องจากตลาดเก็งล่วงหน้าว่า
อสังหากำลังจะฟื้น ทั้งที่ยังไม่มีสัญญาณใดๆ เลย
ที่ทำให้เชื่อได้ว่าอสังหากำลังจะฟื้น แต่ถ้าตลาดหุ้นยังขึ้น
ต่อไปเรื่อยๆ ความมั่งคั่งของคนในตลาดย่อมเพิ่มขึ้น
ที่สุดแล้ว ก็จะทำให้มีคนมีสภาพคล่อง มาช้อนซื้ออสังหาราคาถูก
ทำให้ตลาดอสังหาฟื้นได้จริง เป็นต้น
โซรอสเป็นนักเก็งกำไร ประเภท Global Macro
เขาเชื่อว่า การเข้าใจปัจจัยพื้นฐานนั้น เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้
แต่ว่ายังไม่เพียงพอ การมองตลาดแบบ Reflexivity
คือสิ่งที่มาช่วยเติมเต็ม การวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน
ในส่วนที่ยังบกพร่องอยู่ เพราะนักลงทุนไม่มีวันเข้าใจ
ปัจจัยพื้นฐานได้ครบถ้วน จึงจำเป็นต้องอาศัยการสังเกต
จากตลาดในส่วนที่เรายังไม่รู้ด้วย แต่เดิมโซรอสอาศัย
ปัจจัยพื้นฐานและ Reflexivity ในการทำกำไรจากหุ้นเป็นรายตัว
แต่ต่อมาเขาก็เริ่มหันมาหากำไรจากการมองทั้งตลาดแทน
เพราะเขามองว่า ตัวเขาเอง มีความสามารถจำกัด
ในการทำความเข้าใจ อุตสาหกรรม หลายอุตสาหกรรมให้ได้
แบบลึกซึ้งอยู่ ในขณะที่เขา สามารถทำความเข้าใจ
กับระบบเศรษฐกิจและการเงินได้ดีมากกว่า และนั่นก็ได้ทำให้
เขาค้นพบแนวทางที่เขามีพรสวรรค์อย่างยิ่งในที่สุด
Mr.Soros and his Reflexivity
นรินทร์ โอฬารกิจอนันต์
No comments:
Post a Comment