Tuesday, June 30, 2009

ด่วน!! ใบสำคัญแสดงสิทธิ์อนุพันธ์ (Derivatives Warrant: DW) เริ่มเทรด 9 ก.ค.นี้

พอดีเห็นว่า วันที่ 9 ก.ค. ที่จะถึงนี้

ตลท.จะมีสินค้า ตัวใหม่ เร้าใจ...

กว่าเดิม เข้ามาเทรดกัน สนั่นจอ(หรือป่าว)

นั่นก็คือ ใบสำคัญแสดงสิทธิ์อนุพันธ์ หรือ

เรียกว่า Derivatives Warrant: DW



แล้วมันคืออะไรล่ะ??????????

ขอให้ข้อมูลแบบเป็นทางการก่อนนะ

แล้วจะสรุป เป็นภาษาชาวบ้านทีหลัง



DW ก็คือ หลักทรัพย์ที่ผู้ออกให้สิทธิ์

แก่ผู้ถือในการซื้อ/ขาย หลักทรัพย์

อ้างอิงได้ ตามราคา และช่วงราคา

ที่ระบุไว้ล่วงหน้า โดยผู้ถือสามารถ

ใช้สิทธิ์ หรือไม่ก็ได้ แต่ผู้ออกมีหน้าที่

ต้องรับการใช้สิทธินั้นหากผู้ถือขอใช้สิทธิ

ผู้ออก เจ้า DW นี้ ก็จะเป็นพวกสถาบัน-

การเงิน ที่ได้รับอนุญาต จาก ก.ล.ต.

และไม่ใช่บริษัทจดทะเบียนที่เป็นเจ้าของ

หลักทรัพย์ เช่น บริษัทหลักทรัพย์


หลักทรัพย์อ้างอิง ส่วนใหญ่จะเป็น หุ้น

ดัชนีหุ้น ตะกร้าหุ้น ETF


ประเภทของ DW มี 2 ประเภท คือ

สิทธิในการซื้อ(Call) และสิทธิในการขาย(Put)

หลักทรัพย์อ้างอิง


การถือหลักทรัพย์ ของผู้ออกเพื่อรองรับ

การใช้สิทธิของ DW มี 3 แบบ คือ

ถือเต็มจำนวน (Fully-Collateralized)

ถือบางส่วน (Partial Collateralized)

และ ไม่ต้องถือเลย (Non-Collateralized)


วิธีส่งมอบ และชำระราคา มี 2 วิธี คือ

ส่งมอบหลักทรัพย์จริง (Physical Settlement)

กับ ชำระราคาเป็นเงินสด (Cash Settlement)


สลบ เอ้ย!!,ม่ายช่าย สรุป แบบบ้านบ้านหน่อย

เจ้า DW เนี่ย ก็มีลักษณะคล้ายกับ Warrant

ที่ซื้อขายใน ตลท. นั่นแหละ แต่จะต่างกัน

ในเรื่องของผู้ออก คือ DW จะออกโดย

สถาบันการเงิน เช่น บริษัทหลักทรัพย์ ไม่ใช่

บริษัทจดทะเบียน ดังนั้นจึงไม่ใช่การออกหุ้นใหม่

ถ้าเป็น Warrant บริษัทจดทะเบียน จะมีการ

ออกหุ้นใหม่ เพื่อรองรับการใช้สิทธิ


ข้อดีของมัน ก็เหมือนข้อดี ของ Warrant

นั่นแหละ คือใช้เงินทุนน้อย เมื่อเทียบกับ

การซื้อขาย หุ้นจริงๆ แต่เสมือนว่า ผู้ลงทุน

ได้ลงทุนในหุ้นนั้น หากราคาหุ้นแม่ ปรับตัว

สูงขึ้น ราคา DW ก็จะปรับตัวสูงขึ้น ไปด้วย

เพราะผู้ถือ DW มีโอกาส จะได้กำไร จากการ

ใช้สิทธิ ซื้อหุ้นมากขึ้น แต่ถ้าหาก หุ้นแม่

ปรับตัวลง ราคาของ DW ก็จะลงตามด้วย


จะเห็นว่าเป็นการเพิ่มความสามารถของเงิน

ลงทุนของเรา เพราะเราใช้เงินซื้อ DW

ในสัดส่วนเพียงเล็กน้อย เมื่อเทียบกับเงิน

ที่จะต้องใช้ซื้อหุ้น ทำให้ อัตราผลตอบแทน

จากการลงทุนใน DW จะสูงกว่าการลงทุน

ในหุ้นมาก (กำไรมากกว่า และเจ๊งก็อาจมากกว่า)


พอแค่นี้กันก่อน ละกัน เดี๋ยว คราวหน้า

ค่อยมาว่าต่อ จะพูดถึงเจ้า PTT13CA

ที่จะเทรดกันจริงๆ เลย ว่ารายละเอียดเป็นไง

แล้วติดตามตอนต่อไปด้วย นะจ๊ะ

Friday, June 19, 2009

หุ้นปั่น-ปั่นหุ้น 5


บทสรุป

ตลาดหลักทรัพย์ ถือเป็นแหล่งระดมทุน

ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ ที่มีส่วนสำคัญ

อย่างยิ่ง ในการพัฒนาเศรษฐกิจ

และความเจริญ ของประเทศชาติ

ประชาชนทุกคน ได้รับโอกาส

ให้นำเงินออม เข้ามาลงทุนกับบริษัท

ชั้นดี ในตลาดหลักทรัพย์

หากเขาเหล่านั้น ลงทุนด้วยความรู้

ความเข้าใจ ย่อมสามารถสร้างผลกำไร

และความมั่นคง ให้กับตนเองและครอบครัว

แต่ถ้าเข้ามาลงทุน ด้วยวิธีเก็งกำไร

โดยปราศจากความรู้ ย่อมมีโอกาส

ตกเป็นเหยื่อ ของนักปั่นหุ้น

ที่มีอยู่มากมายในตลาดหุ้นได้



ช่วงที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว

เปรียบได้ดั่งสายฝนซู่ใหญ่

ที่พัดสาดเข้ามาอีกครั้ง

แสงระยิบระยับ ของกระดานหุ้น

เร้าใจแมลงเม่า ไม่แพ้แสงไฟ

ในฤดูฝน เหล่าแมลงเม่าน้อยใหญ่

พากันโบยบิน เข้าตลาดหุ้น

และแล้วตำนานเรื่องเดิม

ของเหล่าแมลงเม่าก็เริ่มต้นอีกครั้ง


หมายเหตุปั่นหุ้น

1) สมัยก่อนหุ้นปั่นจะเป็นหุ้นตัวเล็ก

ที่พื้นฐานไม่ดี

ปัจจุบันนี้ หุ้นปั่นจะเป็นหุ้นตัวเล็ก

หรือหุ้นที่มีสภาพคล่องน้อยแต่พื้นฐานดี

เนื่องจากนักลงทุนรายย่อยฉลาดขึ้น

แต่สุดท้ายก็ถูกหลอกอยู่ดี

2) นักลงทุนรายย่อยจะไม่สนใจ

หุ้นพื้นฐานดี แต่ไม่มีสภาพคล่อง

แต่จะชอบหุ้นปั่น (ทั้งๆ ที่รู้ว่าปั่น)

เพราะราคาวิ่งทันใจดี ส่วนใครออกตัวไม่ทัน

ติดหุ้น เขาจะโทษตัวเองว่า โชคไม่ดี

ไหวตัวไม่ทันเอง


3) นักลงทุนรายย่อยจะไม่ซื้อหุ้น

ที่ขาดสภาพคล่อง ถึงแม้จะมีพื้นฐานดี

แต่จะรอจน มีคนไปไล่ซื้อหุ้น

ให้มีปริมาณซื้อขายคึกคัก และราคาขยับ

สัก 5%-10% แล้วจึงเข้าไปผสมโรง

เพราะทุกคนมีคติว่า "ขาดทุนไม่กลัว กลัวติดหุ้น"

(หุ้นขาดสภาพคล่อง)


4) นักลงทุนรายย่อยจะภาคภูมิใจ

หากสามารถซื้อขายหุ้นในวันเดียว

แล้วได้กำไรเล็กๆ น้อยๆ สัก 1-2%

มากกว่าซื้อหุ้นไว้ 1 ปีแล้วกำไร 20%-30%

เพราะคิดว่าการซื้อขายหุ้นในวันเดียว

แล้วได้กำไรต้องใช้ฝีมือมากกว่า

(ทั้งที่จากเฉลี่ยทั้งปีแล้วมักขาดทุน)


5) หุ้นหลายๆ ตัวในตลาดหลักทรัพย์

มีนักลงทุนรายใหญ่คอยดูแล

เวลามีข่าวดีต่อหุ้นตัวนั้นเข้ามา

ถ้าคนดูแลไม่ต้องการให้ราคาหุ้นปรับขึ้น

หุ้นตัวนั้นก็จะถูกกดราคาไว้

แต่ถ้าคนดูแลเข้ามาไล่ราคาหุ้นเมื่อไร

หุ้นก็จะเปลี่ยนทิศทางเป็นขาขึ้นทันที

และข่าวหนังสือพิมพ์จะออกมาว่า

นักลงทุนตอบรับข่าวดีของหุ้นตัวนั้น

จึงได้เข้ามาซื้อเก็บเอาไว้

ทั้งๆ ที่ หลายๆ ครั้งเป็นการทำราคา

ของรายใหญ่เพียงรายเดียว

ที่เป็นผู้กำหนดทิศทางของหุ้น

ตัวนั้นว่าจะขึ้นหรือลง


6) นักปั่นหุ้นจะกลัวสภาวะตลาด

มากกว่า ก.ล.ต. (คณะกรรมการ

กำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์)

เนื่องจากก.ล.ต. ไม่เคยลงโทษนักปั่นหุ้น

รายใหญ่ได้ แต่เขาจะกลัวว่า

ถ้าคาดการณ์ภาวะตลาดผิด

ตนเองจะติดหุ้นเอง


7) เหตุผลที่นักปั่นหุ้นต้องใช้ชื่อคนอื่น

ตั้งแต่ 4 คนขึ้นไป เป็นตัวแทน

ในการถือหุ้น (NOMINEE) ช่วยซื้อขาย

หุ้นนั้น เพื่อไม่ต้องการให้ทางการ

สาวเรื่องมาถึงตนได้ ขณะเดียวกันก็ต้องการ

หลีกเลี่ยงกฎเกณฑ์การถือหุ้น

เกินคนละ 5% ของทุนจดทะเบียน

ที่ต้องแจ้งเรื่องนี้กับก.ล.ต.

เพื่อเผยแพร่ต่อนักลงทุนทั่วไปด้วย



วิธีสังเกตเมื่อมีการปั่นหุ้น

1) มีข่าวดีมา แต่ราคาหุ้นไม่ไป

ทั้งๆ ที่มีปริมาณการซื้อขายมากขึ้น

เหมือนมีคนกดราคาอยู่ (เพื่อเก็บของ)


2) หลังจากนั้น มีการไล่ราคา

อย่างรวดเร็วรุนแรง ปริมาณ

การซื้อขายพุ่งขึ้นอย่างเห็นได้ชัด


3) จำนวนหุ้นที่ตั้งซื้อ (BID)

มีการเติมเข้าถอนออกอยู่ตลอดเวลา


4) การเคาะซื้อไล่ราคาจะมีการเคาะนำ

ครั้งละ 100 หุ้น 2-3 ครั้ง จากนั้น

จะเป็นการไล่เคาะซื้อยกแถว


5) หลังจากหุ้นขึ้นมานานแล้ว

พอมีข่าวดีมา จะเห็นการเคาะซื้อ

ครั้งละมากๆแต่การตั้งซื้อ (BID)

ไม่หนาแน่น



จังหวะที่ใช้ในการปั่นหุ้น

1) เมื่อหุ้นตัวนั้นราคาตกลงมา

จนราคาต่ำกว่าปัจจัยพื้นฐานมาก

ในภาวะตลาดขาลง

นักลงทุนรายใหญ่จะทยอยสะสมหุ้น

แบบไม่รีบร้อน เมื่อตลาดกลับเป็นขาขึ้น

จะมีการไล่ราคาหุ้นอย่างรวดเร็ว

แล้วทยอยขาย ปีหนึ่งทำได้สัก 2-3 รอบ

ก็คุ้มค่าต่อการรอคอยแล้ว


2) เมื่อมีข่าวที่ส่งผลกระทบ

ต่อปัจจัยพื้นฐานของบริษัทนั้น

โดยทั่วไปนักลงทุนรายใหญ่

จะรู้เห็นข่าววงในก่อน (INSIDER)

และซื้อหุ้นเก็บไว้ เมื่อข่าวดีออกมา

จะมีการไล่ราคาแล้วขายหุ้นออกไป

หรือในทางตรงกันข้าม หากมีข่าว

ปัจจัยพื้นฐานของบริษัทนั้นแย่ลงมาก

เช่น ใกล้หมดอายุการใช้สิทธิของ

WARRANT, ข่าวขาดทุนรายไตรมาส,

ข่าวบริษัทลูกขาดทุนจะเป็นการปั่นหุ้น
รอบสั้นๆ เพื่อออกของ หรือหากได้ปล่อย
ขายไปเกือบหมดแล้ว จะใช้วิธีทุบหุ้น

เพื่อเก็บของถูกแล้วรอปั่นในรอบถัดไป


3) ปลายตลาดขาขึ้น

เมื่อหุ้นปัจจัยพื้นฐานดี (BLUE CHIP)

ทุกกลุ่มถูกนักลงทุนไล่ซื้อจนราคาหุ้น

ขึ้นมาสูงหมดแล้ว โดยทั่วไปจะไล่เรียง

จากหุ้นกลุ่มใหญ่ๆ เช่น กลุ่มธนาคาร

ไฟแนนซ์ ที่ดินวัสดุก่อสร้าง สื่อสาร

และพลังงาน เมื่อนักลงทุนหมดตัวเล่น

รายใหญ่จะเข้ามาปั่นหุ้นตัวเล็กๆ

ที่ปัจจัยพื้นฐานไม่ดีราคาต่ำ

รายย่อยจะเข้าผสมโรงเพราะเห็นว่า

หุ้นกลุ่มนี้ยังขึ้นไม่มาก

ซึ่งโดยทั่วไปเมื่อหุ้นตัวเล็กๆ

ถูกนำขึ้นมาเล่นไล่ราคา

มักเป็นสัญญาณว่า

หมดรอบของภาวะขาขึ้นแล้ว

(เพราะถ้าหุ้นปัจจัยพื้นฐานดี

ราคายังต่ำกว่าความเป็นจริง นักลงทุน

ก็ยังพุ่งเป้าซื้อขายหุ้นกลุ่มนี้อยู่

จนกระทั่งราคาหุ้นขึ้นสูงเกินกว่า

ปัจจัยพื้นฐานแล้วจึงละทิ้งไปเล่นหุ้นปั่น

เมื่อราคาหุ้นโดยรวมสูงเกินปัจจัยพื้นฐาน

ตลาดหุ้นย่อมพร้อมที่จะปรับฐานได้ตลอดเวลา)


สุดท้ายนี้ข้าน้อยขอยืนยัน นั่งยัน นอนยันว่า

บทความนี้ไม่ได้มีเจตนาที่จะชักชวนให้ใคร

เข้าไปมีส่วนร่วมกับการปั่นหุ้นใดๆทั้งสิ้น

และไม่ได้มีเจตนาที่จะชี้โพรงให้กระรอก...

หากใครมีข้อมูลเพิ่มเติมช่วยชี้แนะด้วย....


ที่มาของบทความนี้
http://members.stockwave.in.th/read.php?topic=1270&punhoon&catid=428:member-zone

หุ้นปั่น-ปั่นหุ้น 4

5) การปล่อยหุ้น

เมื่อหุ้นขึ้นมาได้ 80% ของ

ราคาเป้าหมายแล้ว ระยะทาง

ที่เหลืออีก 20%ของราคา

คือช่วงของการทยอยปล่อยหุ้น

ช่วงนี้จะเป็นช่วง ชี้เป็นชี้ตาย

การลงทุนของนักปั่นหุ้น ถ้าทำพลาด

นักลงทุนรายย่อยรู้เท่าทัน

หรือตลาดไม่เป็นใจ เช่น เกิดสงคราม

โดยไม่คาดฝัน นักปั่นหุ้นเอง ที่จะเป็น

ผู้ติดหุ้นอยู่บนยอดไม้ จะขายก็ไม่มีใคร

มารับซื้ออาจต้องรออีก 6 เดือนถึง 1ปี

กว่าจะมี ภาวะกระทิง เป็นจังหวะ

ให้ออกของ ได้อีกครั้ง อีกทั้งอาจจะไม่ได้

ราคาดีเท่าเดิม หรือถึงกับขาดทุนก็ได้



วิธีการปล่อยหุ้น เริ่มจากการรอจังหวะ

ที่ข่าวดีจะประกาศออกมาเป็นทางการ

นักปั่นหุ้นซึ่งรู้มาก่อนแล้ว จะเริ่มไล่ราคา

อย่างรุนแรง 4-5 ช่วงราคา

มีการโยนหุ้น เคาะซื้อ เคาะขาย กันเอง

ครั้งละ หลายแสนหุ้น ปริมาณซื้อขาย

เพิ่มขึ้น อย่างเห็นได้ชัด เพื่อดึงดูด

ความสนใจของรายย่อย


เมื่อรายย่อย เริ่มเข้าผสมโรง

นักลงทุนรายใหญ่ จะตั้งขายหุ้น

ในแต่ละช่วงราคา ไว้หลายๆ แสนหุ้น

และจะเริ่มเคาะนำ ส่งสัญญาณไล่ซื้อ

ครั้งละ 100 หุ้นบ้าง 3,000 หุ้นบ้าง

หรือแม้แต่ครั้งละ 100,000หุ้น

หลายๆ ครั้ง เมื่อหุ้นที่ตั้งขาย

ใกล้หมด เขาจะเคาะซื้อยกแถว

พร้อมกับตั้งซื้อยัน รับที่ราคานั้นทันที

ครั้งละหลายแสนหุ้น


ถามว่าเขาตั้งซื้อ ครั้งละหลายแสนหุ้น

เขากลัวไหม ว่าจะมีคน หรือนักลงทุน

สถาบันขายสวนลงมา คำตอบคือ กลัว

แต่เขา ก็ต้อง วัดใจ ดูเหมือนกัน

หากมีการขายสวน ก็ต้องใช้วิธีเคาะซื้อ

แต่ไม่ใช้วิธีตั้งซื้อ


นักลงทุนรายย่อย เมื่อสังเกตว่า

มีการไล่ซื้อ จะเข้ามาซื้อตาม

นักลงทุนรายใหญ่ ซึ่งคอยนับหุ้นอยู่

พอเห็นมีเหยื่อมาติด จะเคาะนำ

ที่ราคาใหม่ที่สูงขึ้นอีก

แต่เพื่อให้ ไม่ต้องซื้อหุ้นเข้ามาเพิ่ม

เขาจะเคาะซื้อไม้หนักๆ ก็ต่อเมื่อหุ้น

ที่ตั้งขายอยู่เป็นหุ้นในกลุ่มของตนเอง

สมมติตนเองตั้งขายไว้500,000 หุ้น

เมื่อได้รับการยืนยันจากเทรดเดอร์ว่า

เริ่มมีการเคาะซื้อ จากนักลงทุนอื่น

ถึงคิวหุ้นของตนแล้ว เช่นอาจมีคนเคาะ

ซื้อเข้ามา 10,000 หุ้น เขาจะทำที

เคาะซื้อเองตามอีก 200,000 หุ้น

เพื่อให้รายย่อยฮึกเหิม เมื่อซื้อแล้ว

เขาก็จะเอาหุ้น 200,000 หุ้นนี้

มาตั้งขายใหม่ ยอมเสียค่านายหน้า

ซื้อมาขายไปเพียง 0.5% แต่ถ้าสำเร็จ

จะได้กำไรตั้ง 50-100%

เพราะฉะนั้น การไล่ซื้อช่วงนี้

จึงเป็นการซื้อหนัก ก็ต่อเมื่อ ซื้อหุ้นตนเอง

ตบตา รายย่อยขณะที่ค่อยๆเติมหุ้น

ขายไปทีละแสนสองแสนหุ้น


ส่วนการตั้งซื้อ ( BID ) ที่ตบตารายย่อย

ว่าแรงซื้อแน่นนั้น หากสังเกตดีๆจะพบว่า

เมื่อตั้งซื้อเข้ามาสองแสนหุ้น สามแสนหุ้น

สักพัก จะมีการถอนคำสั่งซื้อออก

แล้วเติมเข้ามาใหม่ เพื่อให้การซื้อนั้น

ไปเข้าคิวใหม่อยู่คิวสุดท้าย

และจะทำอย่างนี้หลายๆ ครั้ง

นักลงทุนรายย่อยที่ตั้งซื้อเข้ามา

จะถูกดันไปอยู่คิวแรกๆ หมด

และถ้าเขาเห็นว่านักลงทุนอื่น

มีการตั้งซื้อเข้ามามากพอสมควรแล้ว

นักลงทุนรายใหญ่ก็จะมีการเทขาย

สลับเป็นบางครั้ง เรียกได้ว่ามีทั้งการตั้งขาย

และเคาะขายพร้อนกันเลยทีเดียว


หากจะสรุปวิธีการ ที่ใช้ในช่วงปล่อยหุ้นนี้

สามารถแบ่งออกได้ 4 วิธีการย่อย

มีการตั้งขายหุ้น ( OFFER ) ไว้ล่วงหน้า

หลายแสนหุ้นในแต่ละขั้นเวลา

เริ่มเคาะซื้อนำครั้งละ 100หุ้น 2-3 ครั้ง

และจะเคาะซื้อหนักๆ ก็ต่อเมื่อ

หุ้นที่ตั้งขาย ( OFFER ) เป็นหุ้น

ในกลุ่มของตน เมื่อซื้อได้จะรีบนำ

มาตั้งขายต่อ และจะมีการเติมขายหุ้น

ตลอดเวลา เมื่อหุ้นที่เสนอขาย ( OFFER )

ใกล้หมด จะเคาะซื้อยกแถว

แล้วตั้งเสนอซื้อ ( BID )เข้ามายัน

หลายแสนหุ้น แต่จะทยอยถอนออก

แล้วเติมเข้าตลอดเวลา


เมื่อหุ้นของคนอื่นที่ตั้งซื้อ ( BID )

มีจำนวนมากพอ จะมีการเทขาย

สวนลงมาเป็นจังหวะๆ เขาจะทำอย่างนี้

ไปเรื่อยๆ หุ้นในพอร์ตของตนเอง

จะค่อยๆ ถูกระบายออกไป

และในสุดท้าย เมื่อข่าวดีได้รับ

การตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ในวันรุ่งขึ้น

เขาจะทำทีเคาะไล่ซื้อหุ้นตนเอง

อย่างหนักแต่จะไม่ตั้งซื้อแล้ว

เพราะกลัวถูกขาย ดังนั้นจึงเป็นภาพ

เหมือนมีคนมาไล่ซื้ออย่างรุนแรง

แล้วอยู่ๆก็หยุดไปเฉยๆ

ถามว่าแล้วเขาปล่อยหุ้นไปตอนไหน

คำตอบคือเขาทยอยตั้งขายไป

ในระหว่างที่เขาทำทีซื้อนั่นเอง

ผู้เคราะห์ร้าย คือ รายย่อยที่ไป

เคาะซื้อตาม แต่รีรอที่จะขาย

เพราะเห็นว่ายังมีแรงซื้อแน่นอยู่

สุดท้ายต้องติดหุ้นในที่สุด

หุ้นปั่น-ปั่นหุ้น 3

4) การไล่ราคาหุ้น เมื่อได้ปริมาณหุ้นมากพอ

ขั้นตอนต่อไปจะเป็นการไล่ราคา

แต่การไล่ราคาต้องหาจังหวะที่เหมาะสม

เหมือนกัน หากจังหวะนั้น ไม่มีเหตุผล

เพียงพอ รายย่อยก็จะขายหุ้นทิ้ง

เมื่อราคาหุ้นขึ้นไปสูงพอประมาณ

แต่หากหาเหตุผล มารองรับได้

รายย่อยจะยังถือหุ้นไว้อยู่ เพราะเชื่อว่า

ราคาหุ้น น่าจะสูงกว่านี้อีก

กว่าจะรู้สึกตัว ปรากฏว่า

รายใหญ่ ขายหุ้น ทิ้งหมดแล้ว

เหตุผลหรือจังหวะที่ใช้ในการไล่ราคา

มักจะใช้ 3 เรื่องนี้

ภาวะตลาดรวมเริ่มเป็นขาขึ้น

กราฟทางเทคนิคของราคาหุ้นเริ่มดูดี

มีข่าวลือซึ่งปล่อยโดยนักปั่นหุ้นว่า

หุ้นตัวนี้กำลังจะมีการเปลี่ยนแปลง

ทางพื้นฐานไปในทางที่ดีขึ้น



การไล่ราคา คือ การทำให้ราคาปรับ

สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว


วิธีการคือ จะมีการเคาะซื้อครั้งละมากๆ

แบบยกแถว แล้วตามด้วยการเสนอซื้อ ( BID )

ยันครั้งละหลายๆ แสนหุ้นจนถึงล้านหุ้น

เพื่อข่มขวัญไม่ให้รายย่อยขายสวนลงมา

รายย่อยเห็นว่าแรงซื้อแน่น จะถือหุ้น

รอขายที่ราคาสูงกว่านี้ รายใหญ่บางคน

อาจจะแหย่รายย่อย ด้วยการเทขายหุ้น

ครั้งละ หลายแสนหุ้น เหมือนแลกหมัด

กับหุ้นที่ตนเองตั้งซื้อไว้เอง

รายย่อย อาจเริ่มสับสน ว่ามีคนเข้ามาซื้อ

แต่เจอรายใหญ่ขายสวน ราคาจึงไม่ไปไหน

สู้ขายทิ้งไปเสียดีกว่า รายใหญ่จะโยนหุ้น

แหย่รายย่อยอยู่สัก 1-2 ชั่วโมง

จากนั้น จะตามมาด้วยการ ไล่ราคา

อย่างจริงจังทีละขั้นราคา ( STEP )


ถ้าหุ้นที่ปั่น เป็นหุ้นตลาด

คนชอบซื้อขายกัน การไล่ราคา

จะไล่แบบช้าๆ แต่ปริมาณ ( VALUME )

จะสูง ราคาเป้าหมายมักจะสูงขึ้น

ประมาณ 20-25%


หากภาวะตลาดกระทิง ราคาเป้าหมาย

อาจจะสูงถึง 50%แต่ถ้าหุ้นที่ปั่น

เป็นหุ้นตัวเล็กพื้นฐานไม่ค่อยดี

ปริมาณการซื้อในช่วงเวลาปกติ

มีไม่มากการไล่ราคาจะทำอย่างรวดเร็ว

ราคาเป้าหมายมักจะสูงถึง 40-50%

ถ้าเป็นภาวะกระทิงราคาเป้าหมาย

อาจขยับสูงถึง 100%


ช่วงไล่ราคานี้ อาจจะกินเวลา

3 วันถึง 1 เดือน ขึ้นกับว่าเป็นหุ้นอะไร

ภาวะตลาดอย่างไร เช่นถ้าเป็นหุ้นเก็งกำไร

ที่ไม่มีพื้นฐาน จะกินเวลาสั้น แต่ถ้าเป็น

หุ้นพื้นฐานดีจะใช้เวลานานกว่า

และถ้าเป็นภาวะกระทิง นักปั่นหุ้นจะยิ่ง

ทอดเวลาออกไปเพื่อให้ราคาหุ้น

ขึ้นไปสูงที่สุดเท่าที่ตั้งเป้าเอาไว้


ในช่วงต้นของการไล่ราคา นักลงทุนรายใหญ่

อาจยังคงมีการสะสมหุ้นเพิ่มอยู่บ้าง

แต่รวมกันต้องไม่เกิน 5% ของทุนจดทะเบียน

ในแต่ละพอร์ตที่ใช้ปั่นหุ้นอยู่ พอปลายๆ มือ

จะใช้วิธีไล่ราคาแบบไม่เก็บของ

คือตั้งขายเอง เคาะซื้อเอง เมื่อซื้อได้

ก็จะนำหุ้นจำนวนนี้ย้อนไปตั้งขายอีก

ในราคาที่สูงขึ้นและเคาะซื้อตามอีก

ทำเช่นนี้หลายๆ รอบ สลับกันไปมา

ระหว่างพอร์ตต่างๆของตนเอง

ค่อยๆ ดันราคาสูงขึ้นไปเรื่อยๆ

หากมีหุ้นของรายย่อยถูกซื้อติดเข้ามา

จนรู้สึกว่าเป็นภาระมากเกินไป

ก็อาจมี การเทขายระบายของ

ออกไปบ้างแต่เป็นการขายไม้เล็กๆ

ในลักษณะค่อยๆ รินออกไป

เพื่อไม่ให้นักลงทุนรายย่อยตกใจ

เทขายตามมากเกินไป

ตัวหุ้นเองจะได้มีการปรับฐาน

ตามหลักเทคนิค เพื่อจูงใจนักลงทุนรายใหม่

ที่ยังไม่ได้ซื้อจะได้กล้าเข้ามาซื้อ

หุ้นปั่น-ปั่นหุ้น 2

ขั้นตอนในการปั่นหุ้น


1) การเลือกตัวหุ้น นอกจากจะต้องเลือก

ตัวหุ้นที่มีลักษณะตามที่กล่าวไว้

เบื้องต้นแล้วยังต้องมีการนับหุ้นด้วย

ว่าหุ้นตัวนี้ตอนนี้มีใครถืออยู่

ในสัดส่วนเท่าไร หากจะเข้ามาปั่นหุ้น

ผู้ถือหุ้นรายใหญ่หรือนักลงทุนสถาบัน

จะเข้ามาแทรกแซงหรือไม่

ถ้าผู้ถือหุ้นรายใหญ่ให้ความร่วมมือ

ด้วยก็จะง่ายขึ้น


2)การกระจายเปิดพอร์ตการลงทุน

จะเปิดพอร์ตกระจายไว้สัก 4 - 5 โบรกเกอร์

ในชื่อที่แตกต่างกัน มักจะใช้ชื่อคนอื่น

ที่ไว้ใจได้เช่น คนขับรถ , เสมียน , คนสวน

เพื่อป้องกันไม่ให้โยงใยมาถึงตนได้


3)การเก็บสะสมหุ้น มีหลายวิธีทั้งวิธีสุจริต

และผิดกฎหมาย ในลักษณะการลวง

ให้คนทั่วไปเข้าใจ ว่าราคาหุ้นตัวนั้น

ไม่มีการเปลี่ยนแปลง โดยทั่วไปการ

เก็บสะสมหุ้น มีวิธีดังต่อไปนี้

การทยอยรับหุ้น เมื่อเห็นว่าราคาหุ้น

ลงมามากแล้ว ก็ใช้วิธีทยอยซื้อหุ้น

แบบไม่รีบร้อนวันละหมื่นวันละแสนหุ้น

ขึ้นกับว่าหุ้นตัวนั้นมีสภาพคล่อง

มากน้อยขนาดไหน วิธีนี้เป็นวิธีสุจริต

ไม่ผิดกฎหมาย จะใช้เวลาในการเก็บหุ้น

ตั้งแต่ 2 สัปดาห์ถึง 2 เดือน



การกดราคาหุ้น ถ้าระหว่างที่กำลัง

เก็บสะสมหุ้นยังไม่ได้ปริมาณที่ต้องการ

เกิดมีข่าวดีเข้ามาหรือตลาดหุ้น

เปลี่ยนเป็นขาขึ้นเริ่มมีรายย่อยเข้ามา

ซื้อหุ้นตัวนี้ ก็จะใช้วิธีขายหุ้น

ล็อตใหญ่ๆ ออกมาเป็นการข่มขวัญ

นักลงทุนรายย่อย ถือเป็นการวัดใจ

นักลงทุนรายย่อย มักมีอารมณ์อ่อนไหว

เห็นว่าถือหุ้นตัวนี้อยู่ 2 - 3 วันแล้ว

หุ้นยังไม่ไปไหน แถมยังมีการขายหุ้น

ล็อตใหญ่ๆ ออกมาก็จะขายหุ้นทิ้ง

แล้วเปลี่ยนไปเล่นตัวอื่นแทน

สุดท้ายหุ้นก็ตกอยู่ในมือรายใหญ่หมด

วิธีนี้จะใช้เวลา 5 -10 วัน


การเก็บแล้วกด วิธีนี้มักใช้เมื่อ

มีข่าววงใน ( INSIDE NEWS )

ว่าหุ้นตัวนี้กำลังจะมีข่าวดีเข้ามาหนุน

ถ้าหุ้นตัวนั้นไม่มีสภาพคล่อง

จะใช้วิธีโยนหุ้นไปมาระหว่างพอร์ต

ของตนที่เปิดทิ้งไว้ รายย่อยเมื่อเห็นว่า

เริ่มมีการซื้อขายคึกคัก ก็จะเข้า

ผสมโรงด้วย คนที่ถือหุ้นอยู่แล้ว

ก่อนนี้ไม่มีสภาพคล่อง จะขายหุ้น

ก็ขายไม่ได้ไม่มีคนซื้อ พอมีปริมาณ

ซื้อขายมากขึ้นก็รีบขายหุ้นออก

บางคนถือหุ้นมาตั้งแต่บาท

หุ้นตกลงมาถึง 5 บาท พอเห็นหุ้นตีกลับ

ขึ้นไป 5.5 บาท ก็รีบขายออก

คิดว่าอย่างน้อยตนก็ไม่ได้ขาย

ที่ราคาต่ำสุด

ช่วงนี้รายใหญ่จะเก็บสะสมหุ้น

ให้ได้มากที่สุดโดยใช้เวลา

ประมาณ 5 วันทำการ

ขณะเดียวกันต้องคอยดูแล

ไม่ให้หุ้นมีราคาขึ้นไปเกิน 10 %

เพื่อไม่ให้ต้นทุนของตนสูงเกินไป

ถ้าเกิดราคาสูงขึ้นมาก

จะใช้วิธีโยนขายหุ้นล็อตใหญ่ๆ ออกมา

โดยให้พวกเดียวกันที่ตั้งซื้อ ( BID ) อยู่

แล้วเป็นคนรับเมื่อได้จำนวนหุ้น

ตามที่ต้องการแล้ว สุดท้ายจะกดราคาหุ้นใ

ห้ต่ำลงมายังจุดเดิม โดยใช้วิธีโยนขายหุ้น

โดยให้พวกเดียวกันตั้งซื้อเหมือนเดิม

แต่จะทำอย่างหนักหน่วง และรวดเร็วกว่า

ทำให้ราคาหุ้นลดอย่างรวดเร็ว

ช่วงนี้จะใช้เวลา 3 - 5 วัน รายย่อยบางคน

คิดว่าหมดรอบแล้ว จะรีบขายหุ้นออกมาด้วย

รายใหญ่ก็จะมาตั้งรับที่ราคาต่ำอีกครั้ง

ช่วงนี้จะตั้งรับอย่างเดียว ไม่มีการไล่ซื้อ

หรือไม่ก็หยุดการซื้อขายไปเลยให้เรื่องเงียบ

สัก 4 - 5 วันเป็นการสร้างภาพว่าก่อนข่าวดี

จะออกมาไม่มีใครได้ข่าววงในมาก่อนเลย


รอจนวันข่าวดีประกาศเป็นทางการ

จึงค่อยเข้ามาไล่ราคาหุ้น



วิธีสังเกตว่าในขณะนั้นเริ่มมี

การสะสมหุ้นแล้วคือ ปริมาณซื้อขาย

จะเริ่มมากขึ้นผิดปกติจากวันละไม่กี่หมื่นหุ้น

เป็นวันละหลายแสนหุ้น ราคาเริ่มจะขยับ

แต่ไปไม่ไกลประมาณ 5-10%

มองดูเหมือนการโยนหุ้นกันมากกว่า

กดราคาหุ้นจนกว่าจะเก็บได้มากพอ

แล้วค่อยไล่ราคาหุ้น


ข้อระวังอย่างหนึ่ง คือ มีหุ้นบางตัว

โดยเฉพาะหุ้นตัวเล็กๆ นักลงทุนรายใหญ่

มีข่าวอินไซด์ว่าผลประกอบการงวดใหม่

ที่จะประกาศออกมาแย่มาก

หากภาวะการซื้อขายหุ้นตอนนั้นซึมเซา

เขาจะเข้ามาไล่ซื้อโยนหุ้นกัน

ระหว่าง 2-3 พอร์ตที่เขาเปิดไว้

ให้ดูเหมือนรายใหญ่เริ่มเข้ามาเก็บสะสมหุ้น

รายย่อยจะแห่ตาม รุ่งขึ้นรายใหญ่จะเทขาย

หุ้นขนานใหญ่ รายย่อยเริ่มลังเลใจ

ขอดูเหตุการณ์อีกวัน พอผลประกอบการ

ประกาศออกมา ราคาก็หุ้นดิ่งเหวแล้ว

รายย่อยจึงถูกดึงเข้าติดหุ้นราคาสูงในที่สุด

หุ้นปั่น-ปั่นหุ้น 1

"ปั่นหุ้น"ทำยังไง????????????
แมลงเม่า หมายถึง ปลวกในวัยเจริญพันธุ์
มีปีก ชอบบินเข้าเล่นแสงไฟในยามค่ำคืน
และมักจบชีวิตในเปลวไฟ


นักลงทุนรายย่อย หมายถึง ผู้คนซึ่งพอ

จะมีสตางค์ ที่เข้าไปลงทุนในตลาดหุ้น

เพราะทนต่อความยั่วยวนของราคาหุ้น

ที่ขึ้นลงหวือหวาไม่ได้ สุดท้ายมักจะ

หมดตัวไปกับหุ้นปั่น


ส่วนนิยามโดยสรุปของการปั่นหุ้น คือ

การล่อ และลวงนักลงทุนรายย่อยให้

เข้าไปซื้อหรือขายหุ้นที่มีราคาสูงหรือต่ำ

กว่าสภาวะปกติ โดยเจตนาไม่สุจริต


การเปรียบนักลงทุนรายย่อยว่าเป็น...

แมลงเม่า จึงเหมาะสมด้วยประการฉะนี้



ลักษณะของหุ้นที่นิยมปั่น มีมูลค่าทางตลาด

( MARKET CAPITALISATION ) ต่ำจะ

ได้ไม่ต้องใช้จำนวนเงินมากในการไล่ราคา

ปัจจัยพื้นฐานยังไม่ดีเพื่อที่นักลงทุนสถาบัน

จะไม่เข้ามาซื้อขายด้วย ซึ่งจะทำให้ยาก

ต่อการควบคุมปริมาณ และราคาหุ้น


มีราคาต่อหุ้น ( MARKET PRICE ) ต่ำ

ถ้าราคาต่ำกว่า 10 บาทยิ่งดี

ด้วยเหตุผลสองประการ

หนึ่งเป็นผลทางจิตวิทยา เช่น หุ้นถูกไล่

ราคา จาก 3 บาท เป็น 6 บาท

ถึงแม้ราคาจะปรับขึ้นมา 100% แล้ว

แต่คนยังรู้สึกว่าไม่แพง เพราะยังถูก

กว่าราคาพาร์ ( PAR )

สองผู้ถือหุ้นใหญ่ที่เป็นนักลงทุนสถาบัน

มักมีต้นทุนที่ราคาพาร์ หรือสูงกว่า

แม้หุ้นจะขึ้นมามาก แต่ถ้าเขาเชื่อว่า

แนวโน้มของธุรกิจดีเขามักจะไม่ขาย

( ถ้าแนวโน้มธุรกิจไม่ดี เขาก็ขายทิ้งไปนานแล้ว )

ดังนั้นจึงไม่ต้องกังวลว่านักลงทุนสถาบัน

จะเข้ามาแทรกแซงในการซื้อขาย


มีจำนวนหุ้นหมุนเวียนน้อย เพื่อความมั่นใจ

ว่าจะสามารถควบคุมปริมาณหุ้นได้

ตามที่ต้องการ ผู้ถือหุ้นใหญ่รู้เห็นเป็นใจ

หรือผู้ถือหุ้นใหญ่ถือหุ้นเพื่อการลงทุนระยะยาว

จึงไม่สนใจเมื่อราคาหุ้นขึ้น หรือลงหวือหวา

มีข่าวดีมารองรับ ระยะหลังเริ่มมีการใช้

ปัจจัยพื้นฐานของหุ้นมาเป็นตัวล่อใจ

นักลงทุนรายย่อยเพื่อให้ตายใจว่า...

ราคาหุ้นถูกไล่ขึ้นมาสมเหตุสมผล

เช่น ข่าวการปรับโครงสร้างหนี้,

ข่าวการร่วมกิจการ , กำไรรายไตรมาสที่

พุ่งขึ้นสูงเป็นต้น

Thursday, June 18, 2009

มีอะไรใน confidence

วันนี้ หุ้นลงอีกแล้ว คุณรู้สึกยังไง

เคยตรวจสอบ จิตใจ หรือความรู้สึก

ของตัวเอง กันบ้างมั้ย ในเวลา

ที่หุ้น ขึ้น หรือ ลง (ไม่เป็นอย่าง

ที่เราได้คิดไว้ล่วงหน้า)


เราขอแนะนำดูนะ ลองสังเกตดู

ว่า ความรู้สึก ตอนนั้น เป็นยังไง

และตอนนั้น เราได้ตัดสินใจ

ทำอะไรไปบ้าง ลองบันทึกไว้



ทำแล้วได้ประโยชน์ อะไรล่ะ??

จะมาบอก วันหน้า ก็แล้วกัน



กลับมาต่อที่เรื่องเดิม ของเรากัน

ที่ได้ทิ้ง ความหมาย ของ

'ความมั่นใจ' ไว้ แล้วเราได้อะไร

Confidence is generally described
as a state of being certain either
that a hypothesis or prediction is
correct or that a chosen course of
action is the best or most effective.

ความมั่นใจ(ความเชื่อมั่น) อธิบายถึง

ความแน่ใจ ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง คือ

แน่ใจในสมมติฐาน หรือการทำนาย

ว่าถูกต้อง กับ แน่ใจในวิถีทางทีเลือก

ปฏิบัติว่ามันดีที่สุด หรือมีประสิทธิภาพ

มากที่สุด


เริ่มเห็นหรือยัง ว่า... หลังจากที่เรา

ได้ซื้อหุ้น ตอนที่ มั่นใจ มากกกกๆๆ

แล้วมันกลับ ไม่เป็น อย่างที่เราคิด

สาเหตุ มันอยู่ ที่ตรงไหน

นี่เลย ตรง 2 ประโยค นี้ แหละ

that a hypothesis or prediction is correct or
that a chosen course of action is the best or most effective.

สรุป ตัวปัญหาก็คือ

สมมติฐาน หรือ การทำนาย ของเราผิด

หรือไม่ก็ การเลือกวิถีในการปฏิบัติที่ผิด

ทั้งข้อสมมติฐาน การทำนาย หรือวิธี

ทีเรา action กับมัน ไม่ได้ถูกต้อง หรือ

ดีที่สุด อย่างที่เราแน่ใจ ในตอนแรก

ตอนนี้เราเจอ สาเหตุ แล้ว

และจะแก้ปัญหา ยังไง เริ่มจาก

ตรงไหน ก่อนดีล่ะ
.
.
.
.
.

แล้วค่อยมาต่อกันวันหน้า..

ขอลาไปก่อน

Wednesday, June 17, 2009

มนุษย์หุ้น ชีวิตต้องหุ้น

พอดีไปเจอ บทความน่าสนใจ

เลยไปแอบ เอามาให้ อ่านกัน

หวังว่าคง ได้ประโยชน์ กันบ้าง

ไม่มาก ก็น้อย นะคะ

เอ้า ! ไปตาม link นี้เลย

http://www.pantip.com/cafe/sinthorn/topic/I7945987/I7945987.html

Tuesday, June 16, 2009

ตามล่า! หา...'ความมั่นใจ'

เมื่อวานหุ้นลงหนัก กว่า 16 จุดเลย

วันนี้ช่วงเช้า ก็ลงลึก สัก 18 จุด แล้ว

ยังสบายดี กันอยู่มั้ย เป็นยังไง....

ยังมี ความมั่นใจ ว่าหุ้นจะขึ้นต่อไป

ได้หรือเปล่า? (คิดคิดดดดด..อยู๋)


เมื่อวานได้ทิ้งท้ายไว้ ว่าจะแก้ไข

เรื่องของ..จุดมั่นใจ กันยังไงดี

แต่ไม่มีใคร ช่วยกัน บ้างเลย

เอ้า ไม่มีใครช่วย ก็ต้องช่วยตัวเอง

ไปก่อน ละกัน แต่จะเริ่มต้นจาก...

ตรงไหน ดีล่ะ นึกไม่ออก ก็ไปลง

ที่เจ้าตัว ต้นเหตุ ก็คือ 'ความมั่นใจ'

นี่แหละนะ


แล้วจะทำยังไง กับไอ้เจ้า คำนี้ ดีล่ะ

ยังคิดไม่ออก เหมือนเดิม...ไปกินข้าว

รับสารอาหาร เข้ามากระตุ้นสมอง

ก่อนดีกว่า....กินนนนนอยู่นะ อย่ากวน
.
.
.
กินข้าว เส็จแล้ว พร้อมลุย

สมองเริ่มทำงาน ไอ้คำว่า 'ความมั่นใจ'

ทุกคน น่าจะเคยพูดคำนี้ บ้างล่ะน่า

ไล่มา ตั้งแต่ นายก นักการเมือง

นักธุรกิจ หรือแม้กระทั่งในตลาดหุ้นของเรา

อย่างผู้จัดการตลาดหุ้น ก็ต้องออกมาแสดง

ความมั่นใจว่า ตลาด ของเรา ยังน่าลงทุน

นักวิเคราะห์ ก็พูด หรือแม้กระทั่ง...

นักลงทุนเอง สรุป พวกเรา แทบจะทุกคน

น่าจะเคยใช้ คำ คำนี้ นะ....แต่ว่า

จะมี สักกี่คน ที่จะรู้ซึ้ง ถึงความหมาย

ของคำนี้ ดี เอาล่ะ เรา ลองตามหา

คำนี้กัน เผื่อ จะได้ เบาะแส ในการ

แก้ไข วิธีการ ลงทุน ของเรา ก็ได้


ว่าแล้ว ก็ เลย ลองไป ค้น ที่ google ดู

เป็นที่น่า แปลกใจ ม๊ากมาก เพราะแทบ

จะหาความหมาย ของ คำนี้ ไม่เจอเลย

ที่มีอยู่ ก็ดู ไม่ค่อย เคลียร์ เท่าไหร่

เลยเปลี่ยนไปหาที่ พจนานุกรม

ฉบับราชบัณฑิตยสถานดู เจอแต่

'มั่นใจ' เฉยๆ 'ความมั่นใจ' ไม่มี


มั่นใจ
ก. แน่ใจ, เชื่อใจ, เช่น คราวนี้มั่นใจว่าจะต้องสอบได้.

ใครอยากลองหา คำอื่น ที่ใกล้เคียง

กว่านี้ ก็ลองไป หาได้ ที่link ข้างล่างนี้

http://rirs3.royin.go.th/dictionary.asp


แต่มันก็ยัง ไม่ ค่อย ปิ๊ง น่ะ

อยากได้ความหมายที่ มันดูลึกกว่านี้

สุดท้ายก็ได้มาว่า...

Confidence is generally described
as a state of being certain either
that a hypothesis or prediction is
correct or that a chosen course of
action is the best or most effective.

ได้จากที่ wiki เวบ inter สุดฮิต นี่เอง
http://en.wikipedia.org/wiki/Confidence

ในความคิดของเรา คิดว่า ความหมายนี้

น่าจะดู ใกล้เคียง ได้ใจความ ที่สุดแล้ว

เอาล่ะ ตอนนี้ เราก็ได้ ความหมายแล้ว

เราจะ ทำ ยังไง กับมันต่อ ดีล่ะ??

Monday, June 15, 2009

จุดมั่นใจ

ต่อจากบทความที่แล้ว ที่ได้ทิ้งประเด็น

ไว้ เกี่ยว กับความมั่นใจ ของนักลงทุน


เคยสังเกต กันบ้างมั้ยคะ ว่า...หลังจาก

ทีหุ้นตก ลงมาหนักๆๆ แล้ว ถึงจุดที่...

แรงขายเริ่มสะเด็ดน้ำ ตลาดเคลื่อนไหว

แบบออกข้าง (sideway) วอลุ่มหด

รายย่อยหาย ช่วงนั้นคนส่วนใหญ่จะไม่

ค่อยกล้าเข้ามาลงทุน จนหุ้นเริ่มขึ้นมา

เรื่อยๆ ระดับหนึ่ง ก็จะมีนักลงทุน สงสัย

โทรเข้ามาถาม ว่าขึ้น เพราะอะไร???

ไอ้เราเป็นแค่ marketing ก็ต้องให้เหตุผล

ไปตามบทวิเคราะห์ ของนักวิเคราะห์

ผู้ซึ่งเก่งกล้า สามารถ ทั้งหลายแหล๋



แต่นักลงทุน ก็จะยังไม่มั่นใจ มีแต่คน

พูดว่า "ไม่ขึ้นจริงหรอก เศรษฐกิจไม่ดี"

หรือ "แค่รีบาวด์" หรือบางคน ก็พูดว่า

"ของปลอม" ยังไม่ลงทุนช่วงนี้


และในที่สุด ตลาดก็ปรับขึ้นมาเรื่อยๆ

200 กว่าจุด นักลงทุน ทีตกรถเที่ยว

380-600 กว่าจุด ก็พึ่งจะเริ่ม มีความ

มั่นใจแล้วล่ะ ว่าหุ้น จะขึ้นจริงๆ ตอนนั้น

จะพกความมั่นใจ(และเงิน) มาเต็มกระเป๋า

marketing จะห้ามยังไง ก็ไม่เชื่อ...แล้ว

ในที่สุด ลูกค้าที่ตกรถ กลุ่มนี้ ก็ได้หุ้น

เข้ามาไว้ในอ้อมกอด สมใจอยาก


แต่...ว่า เรื่องมันเศร้า!!!!!!! ก็ตอนที่

หุ้นมันชอบมาเริ่มตก ตอนที่ลูกค้า

กลุ่มนี้ เข้ามาซื้อน่ะสิ !


จุดที่ลูกค้าที่ตกรถ มาตั้งแต่ต้น จนถึง

เริ่มกลับ มาซื้อ จุดที่ลูกค้าเริ่มซื้อ

(ในช่วงที่หุ้นขึ้นมา peakทั้งวอลุ่ม และ

ราคา) นี้แหละ ดิฉันตั้งชื่อ ให้ว่า ...

"จุดมั่นใจ" (เกินเหตุ?) ซึ่งเกิดขึ้นเสมอๆ

ซ้ำๆ ทุกรอบของการขึ้น ของตลาด

และรายย่อยที่มีพฤติกรรมแบบนี้

ก็จะยังเป็นแบบนี้ เดิมๆ อยู่ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า


เราจะหาวิธีแก้ไขเรื่องนี้ กันได้ยังไง??

มีใครว่างๆๆ ช่วยเข้ามาตอบที+++

Friday, June 12, 2009

ข้อคิดปรมาจารย์

"นักเล่นหุ้น ในโลกนี้ จะมีโชคจาก
การลงทุนร้อยละ 20 ในจำนวนนี้
10 คน เอาตัวรอดได้แน่ อีก 10 คน
..ลูกผีลูกคน ส่วนที่เหลือ 80 คนนั้น
เป็นพวก 'เจ๊ง' " จริงๆ นะ

"ในตลาดหุ้น คนโง่เป็นเหยื่อของ
คนฉลาด และคนฉลาด ก็เป็นเหยื่อ
ของ ความโลภ"

" การทำมาหากิน กับความเสี่ยง
จะต้องรีบ ฉกฉวยกำไร ไม่ว่าจะน้อย
หรือมาก เอาเข้ากระเป๋าไว้ก่อน
มีเงินสดอยู่ในมือ ดีกว่ามีแต่ตัวเลข
ตราบใดที่หุ้นยังอยู่ในมือ อะไรๆๆ..
มันก็ไม่แน่ เว้นแต่เราขายออกไป
แล้วได้เงินมา... นั่นแหละ! คือ...
'ความแน่นอน' "


วันนี้พอจะมีเวลามาโพสต์ครั้งแรก
เป็นบทความปฐมฤกษ์ เลยลองเอา
ข้อคิดจากปรมาจารย์หุ้นมาฝากกัน
เพื่อเตือนสตินักลงทุน หลังจากที่
หุ้นขึ้นมาอย่างร้อนแรง ตั้งแต่เดือน
มีนา จากระดับประมาณสัก 400 กว่า
จุด จนถึงวันนี้ (12 มิ.ย.) ทำ high
ไปที่ 638.05 ก็ขึ้นมารวมๆ แล้ว
กว่า 200 จุด โดยที่แทบจะไม่มีการ
หยุดพัก ปรับฐานกันบ้างเลย

ช่วงนี้เลยทำให้นักลงทุน เริ่มที่จะ
มี "ความโลภ" มากกว่า " ความกลัว"
กันแล้ว โดยสังเกต ได้จาก คนที่มี
หุ้นอยู่ ก็เริ่ม ถือครอง "กำหุ้น" กันแน่น
ไม่ยอมปล่อย คนที่ไม่เคยได้ซื้อหุ้น
เก็บไว้เลย ตั้งแต่ช่วง 400 -600 จุด
(ตอนนั้น ยังไม่แน่ใจ บอกว่า ไม่ขึ้นจริง)
ก็เริ่มที่จะมั่นใจ ว่าหุ้นจะขึ้นแล้ว จริงๆ
(ตอนที่ set อยู่ที่ 630 นี่นะ จุดมั่นใจ
ท่านไกลมาก ก่อนท่านจะมั่นใจ คนอื่น
เขาไป ถึงไหนกันแล้ว)

ยังไงก็แล้วแต่...ไม่ว่ากัน ใครจะมั่นใจ
กันตอนไหน ก็ขอให้โชคดี รับทรัพย์
กลับบ้าน กันทั่วทุกคนจ้า+++
Custom Search

Followers