Monday, August 10, 2009

เงินสิบบาท

ถ้าเรามีเงินอยู่ 10 บาท ไปซื้อของ 3 บาท

จะได้รับเงินทอนเท่าไร ครูคนหนึ่งตั้งคำถาม

กับเด็กว่า “ถ้าเรามีเงินอยู่ 10 บาท นำไปซื้อของ 3 บาท

จะได้รับเงินทอนเท่าไร” เด็กส่วนใหญ่ตอบว่า “7 บาท”

แต่มีเด็ก 2 คน ที่ตอบไม่เหมือนกับคนอื่น

คนหนึ่งตอบว่า “2 บาทคะ” อีกคนหนึ่งตอบว่า “ไม่ต้องทอนครับ”

ครูถามเด็กคนแรกว่า ทำไมถึงได้เงินทอน 2 บาท

คำตอบที่ได้คือ ในจินตนาการของเขา

เขามีเหรียญห้าบาท 2 เหรียญ เมื่อซื้อของราคา 3 บาท

เขาก็ให้เหรียญห้าบาทไป 1 เหรียญ

ดังนั้น จึงได้รับเงินทอนมา 2 บาท

เมื่อถามเด็กคนที่สองว่า ทำไม ไม่ได้รับเงินทอนกลับมา

เด็กคนนี้ไปคิดว่าเขามีเหรียญหนึ่งบาท

ทั้งหมด 10 เหรียญ เมื่อซื้อของราคา 3 บาท

เขาก็ส่งเหรียญหนึ่งบาทให้แม่ค้าไป 3 เหรียญ

แม่ค้าจึงไม่ต้องทอนเงินให้เขา


โชคดีที่เป็นการถาม-ตอบในห้องเรียน

ลองนึกดูสิว่า ถ้าโจทย์นี้ เป็นข้อสอบที่มีคำตอบ

เป็น ก-ข-ค-ง เด็ก 2 คนนี้ คงไม่ได้คะแนน

จากคำตอบที่ผิดเพี้ยนไปจากคนส่วนใหญ่

การสร้างโจทย์ที่ “เสมือนจริง” ในจินตนาการของครู

อาจถูกจำกัดเพียงแค่ “ตัวเลข” แต่สำหรับเด็ก

จินตนาการของพวกเขาไร้กรอบ เงิน 10 บาท

จึงสามารถเปลี่ยนเป็นเหรียญสิบบาท เหรียญห้าบาท

หรือ เหรียญหนึ่งบาท

เมืองไทยมีเหรียญสองบาท เราจึงอาจได้คำตอบ

เพิ่มอีก 1 ตำตอบ คือได้เงินทอน 1 บาท


โลกในห้องเรียน กับโลกของความเป็นจริง

นั้นแตกต่างกัน โลกในห้องเรียน ทุกคำถาม

ส่วนใหญ่มีเพียง 1 คำตอบ แต่โลกของความเป็นจริง

ทุกคำถามอาจมีคำตอบที่ถูกต้องได้เกิน 1 คำตอบ


อย่ารีบตัดสินความผิดถูกของคนๆนั้น

เพียงแค่คำตอบของเรา

อย่าหยุดความคิดสร้างสรรของคนๆนั้น

ด้วยกรอบความคิดของเรา


ดูเผินๆ เรื่องข้างต้น อาจจะไม่เกี่ยว

กับการวางแผนการเงินสักเท่าไร

แต่หากคิดให้ลึกซึ้ง จะพบว่า

ในโลกของความเป็นจริง ช่องทาง

ในการทำมาหากิน วิธีการเก็บออม

หรือทางเลือกในการลงทุนมีหลากหลายมากมาย

ขึ้นกับโอกาส สิ่งแวดล้อม ความชำนาญ

หรือความเหมาะสมของแต่ละบุคคล

แต่หลักการพื้นฐานในการวางแผนยังคงเดิม

ไม่เปลี่ยนแปลง เฉกเช่นเดียวกับตัวอย่างข้างต้น

เรามีเงิน 10 บาท ซื้อของไปเพียง 3 บาท

ย่อมมีเงินเหลือ 7 บาท แต่วิธีการจ่ายเงิน

หรือวิธีการทอนเงินนั้น อาจแตกต่างกันไป

ในแต่ละคน แต่ละสิ่งแวดล้อม


ที่ปรึกษาการเงินที่ดี จึงควรชี้แนะ

เพียงหลักการกว้างๆ เพื่อให้ลูกค้านำไปปฏิบัติ

เช่น การวางแผนให้เป็นรูปธรรม การกำหนด

กรอบของเวลา หรือการกระจายความเสี่ยง

การตัดสินใจแทนลูกค้าทั้งหมด โดยไม่ใส่ใจ

ในข้อจำกัดของลูกค้า อาจนำความเสียหาย

มาให้โดยคาดไม่ถึง


อย่ารีบตัดสินความผิดถูกของคนๆนั้น

เพียงแค่คำตอบของเรา

อย่าหยุดความคิดสร้างสรรของคนๆนั้น

ด้วยกรอบความคิดของเรา


หมายเหตุ ขอขอบคุณผู้เขียนนิรนาม

ที่สามารถใช้ตัวอย่างเรื่องง่ายๆ

แต่ให้ข้อคิดอย่างลึกซึ้ง ขอบคุณจริงๆ

No comments:

Post a Comment

Custom Search

Followers