Wednesday, March 17, 2010

Dickson G. Watts

โดย สุมาอี้

ผมได้อ่านหนังสือโบราณเล่มหนึ่ง ซึ่งเขียนโดย Dickson G.Watts
นักเก็งกำไรในตลาด New York Cotton Exchange เมื่อ 85 ปีที่แล้ว
ท่านผู้นี้ร่ำรวยขึ้นมาจากมือเปล่าด้วยการเป็นนักเก็งกำไรราคาฝ้าย
และในวัยสูงอายุได้ดำรงตำแหน่งเป็นประธานของ NYCE ในระหว่าง
ปี 1878 - 1880 อีกด้วย

หนังสือเล่มนี้หายสาบสูญไปนาน แต่มันกลับมาได้รับความสนใจอีกครั้ง
เมื่อ Edwin Lefevre ผู้เขียนหนังสือชื่อ Reminiscences of a Stock Operator
ซึ่งเป็นชีวประวัติของ Jesse Livermore นักเก็งกำไร ผู้โด่งดังในช่วงปี
1900-1930 กล่าวถึงกฏของ Watts ไว้ในหนังสือ

หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่มีขนาดเล็กมาก มันมีกฏทองของการเก็งกำไร
เพียงไม่กี่ข้อ ซึ่งเป็นการสรุปจากประสบการณ์การเก็งกำไรทั้งชีวิตของผู้เขียน
ผมเห็นว่า มันมีประสบการณ์ ที่ทรงคุณค่า ซึ่งจะช่วยให้ ประหยัดเวลา
ในการเรียนรู้เกี่ยวกับตลาดหุ้นของเราได้ โดยที่ไม่ต้องจ่ายค่าเทอมเองด้วย
อย่างไรก็ตาม มันเป็นหลัก สำหรับการเก็งกำไรเป็นหลัก ต้องระวังเวลานำไปใช้
กับการลงทุน เพราะแม้ว่าจะใช้ได้บ้างในบางส่วน แต่ไม่ว่าทั้งหมด

กฏของ Watts มีทั้งหมด 10 ข้อ 4 ข้อแรก เป็นกฏที่เป็นจริงเสมอ
(Laws Absolute) อีก 6 ข้อหลังเป็นกฏที่โดยปกติให้ยึดถือเอาไว้
แต่ในบางสถานการณ์ ก็สามารถยืดหยุ่นได้ (Rules Conditional)
ผมขออนุญาตเริ่มจาก Rule Conditional ทั้ง 6 ข้อก่อน

Rule Conditional #1 : การซื้อเฉลี่ย "ขาขึ้น" ดีกว่าการซื้อเฉลี่ย "ขาลง"

ธรรมเนียมทั่วไป นิยมเชื่อว่าการเฉลี่ยขาลง ดีกว่า เพราะทำให้
ต้นทุนเฉลี่ยลดลงเรื่อยๆ แม้ว่าสี่ในห้าครั้งที่เฉลี่ยขาลง ราคาหุ้น
จะพลิกกลับขึ้นมา ทำให้มีกำไรได้ แต่จะมี อีกหนึ่งในห้าครั้งที่
ราคาหุ้น ลงแบบถาวร ไม่กลับขึ้นมาอีกเลยตลอดไป ซึ่งจะนำ
ไปสู่การขาดทุนมหาศาลได้

Rule Conditional #2 ตลาดโวลุ่มหาย แนวต้านไม่แข็งแรง คือตลาด
ที่ควรจะขายเพราะตลาดเช่นนี้มักจะพัฒนาไปสู่ตลาดขาลง แต่เมื่อไรก็ตาม
ที่ตลาดเช่นนี้ ได้ผ่านไปสู่ภาวะ ที่มีโวลุ่มหนาแน่น และเป็นขาลงแล้ว
ต่อด้วยแรงขายแบบตื่นตระหนกเรียบร้อยแล้วก็ถึงเวลาที่ควรจะซื้อมากๆ

ในทางตรงกันข้าม ตลาดที่โวลุ่มหาย แต่แนวต้านมั่นคง มักจะพัฒนา
ไปสู่ตลาดที่มีโวลุ่มหนาแน่นและมีฐานที่แข็งแรง หลังจากนั้นถ้าตลาด
กลายเป็นตลาดที่เต็มไปด้วยอารมณ์ตื่นเต้น ก็ควรจะขายออกมาอย่างมั่นใจ

Rule Conditional #3ในการสร้างมุมมองเกี่ยวกับตลาด ปัจจัยด้าน
ความน่าจะเป็นจะละเลยไม่ได้ จงคิดถึงความน่าจะเป็นเสมอ
นโปเลียนวางแผนการรบจะเผื่อกรณีสุดวิสัยเอาไว้เสมอ อุบัติเหตุอาจเกิดขึ้น
มาทำลายหรือหักล้างการคิดคำนวณที่ดีที่สุดได้ การคิดคำนวณจึงต้องรวม
สิ่งที่คาดไม่ได้เอาไว้เสมอ คนที่คิดคำนวณความน่าจะเป็นไว้ด้วยคือยอดคน

จงสร้างมุมมองจากข้อมูลต่างๆ เช่น สภาวะของประเทศ ผลผลิตทางการเกษตร
ตัวเลขการผลิต ฯลฯ สถิติเก่าๆ นั้นเป็นสิ่งที่มีค่า แต่จะต้องไม่มีอิทธิพลเหนือ
ข้อมูลในการสร้างมุมมองเกี่ยวกับสถานการณ์ข้างหน้า คนที่ยึดติดกับสถิติเก่าๆ
มากเกินไปจะหลงทาง เคนนิ่งกล่าวว่า "there is nothing so fallacious as facts,
except figures."

ดังนั้น จึงควรเริ่มซื้อแต่น้อย เมื่อราคาหุ้นไต่ระดับขึ้นก็ค่อยๆ ซื้อเพิ่ม
อย่างเฝ้าระวัง เมื่อไรที่ราคาหุ้นปรับฐานลงจนชนต้นทุนเฉลี่ยเมื่อไร
ก็ควรขายหนีทันที เพื่อหลีกเลี่ยงการขาดทุน ถ้าทำเช่นนี้ตลอดจะมีบางครั้ง
ที่ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นไป อย่างมาก ทำให้ได้กำไรมหาศาล ในครั้งนั้น
กลยุทธ์นี้มีความเสี่ยงต่ำ และเมื่อใดก็ตามที่สำเร็จจะได้กำไรสูง
ควรใช้กลยุทธ์ซื้อเฉลี่ยขาขึ้นเมื่อคาดว่าตลาดกำลังมีการเปลี่ยนแปลง
ครั้งสำคัญและในจังหวะที่คุณมีเงินทุนพอเพียงที่จะทำเช่นนั้น

Rule Conditional #4ในสถานการณ์ทั่วไป คำแนะนำของเราคือการซื้อ
ในครั้งเดียวให้ได้จำนวนที่เหมาะสมกับทุนที่มีอยู่ไปเลย การ Cut loss
หรือการ Take Profit ก็ให้ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณ หลักก็คือ Stop lossess
and let profits run. ถ้าหากกำไรขนาดเล็กเรา Take ได้ ขาดทุนขนาดเล็ก
เราก็ต้องกล้า Take ด้วย การขาดความกล้า ที่จะขาดทุน ขนาดเล็ก และ
การรีบร้อนเกินไปที่จะ Take Profit คือหายนะ มันทำให้เสียงานมามากแล้ว

Rule Conditional #5การซื้อขาลงต้องอาศัยกระเป๋าเงินที่ลึกและจิตใจที่มั่นคง
บ่อยครั้งที่ความหายนะมาเยือนผู้ที่มีทั้งสองสิ่ง ยิ่งจิตใจมั่นคง โอกาสที่จะถือหุ้น
ไว้นานเกินไปยิ่งมาก อย่างไรก็ดี มีคนจำพวกหนึ่ง ที่ประสบความสำเร็จ
ในการซื้อขาลงแล้วถือไว้เฉยๆ พวกนี้ซื้อทีละน้อย เข้าอย่างรอบคอบ และถือ
เอาไว้นานๆ พวกเขาเป็นคนที่ไม่รู้สึกถูกรบกวนใจเพราะความผันผวนของราคา
พวกเขา เป็นนักตัดสินใจ ซึ่งซื้อในยามที่ตลาดแย่มากๆ แล้วถือไว้จนธุรกิจ
พลิกฟื้นตัวได้ แบบนี้เป็นการลงทุนไม่ใช่การเก็งกำไร

Rule Conditional #6ความเห็นของตลาดนั้นจะละเลยไปเลยไม่ได้
เมื่อเกิดกระแสการเก็งกำไร เราควรเฝ้าดูอย่างใกล้ชิด หลักก็คือ ตัดสินใจ
อย่างรอบคอบตลาดกระแสตลาด ถ้าจะสวนตลาดก็ให้ทำอย่างกล้าหาญ
การแห่ตามตลาดแม้ว่าทุกอย่างจะดูดีนั้นเป็นเรื่องที่อันตราย เมื่อทิศทาง
พลิกกลับเราจะลำบาก นักเก็งกำไรตระหนักดีถึงอันตรายของ "การมีเพื่อนมากเกินไป"
ในขณะเดียวกันก็ต้องรอบคอบอย่างยิ่งในการสวนตลาด ตลาดมีชีพจร
ที่นักเก็งกำไรควรวางมือของตนไว้บนข้อมือของตลาดแบบเดียวกับแพทย์
ชีพจรนี้คือสิ่งที่จะบ่งบอกเราว่าควรทำเช่นไรและเมื่อใด

คราวนี้ ขอกล่าวถึง Law Absolute ที่เหลืออีก 4 ข้อ ของ Dicksons G.Watts บ้าง

Law Absolute 1: Never Overtrade
การเปิดสถานะโดยมิประเมินทุนที่มีอยู่นำมาซึ่งหายนะ ความผันผวนที่รุนแรง
จะปั่นหัวของนักลงทุนทำให้การตัดสินใจผิดพลาดไปหมด

Law Absolute #2 : Never "Double Up"
ห้ามกลับสถานะทีเดียวทั้งหมดในทันที ตัวอย่างเช่น กำลัง long อยู่
ห้ามขายทิ้งหมดแล้วเปลี่ยนมา short ทันทีในปริมาณที่เท่ากัน ในบางครั้ง
การทำเช่นนี้อาจประสบความสำเร็จแต่นับว่าอันตราย หากตลาดพลิก
กลับมาขึ้นต่อ ใจกลับไปเก็งทิศทางเดิม นักเก็งกำไรจะทิ้ง short แล้วหันมา
long ใหม่อีกครั้ง ถ้าหากว่าหนนี้ผิดพลาด ความปั่นป่วนในใจจะเกิดขึ้น
ดังนั้นเมื่อต้องการกลับทิศทางควรทำทีละน้อยอย่างระมัดระวัง ทั้งหมด
ก็เพื่อรักษาความสามารถในการตัดสินใจของเราให้ปลอดโปร่งอยู่เสมอ
สร้างสมดุลของจิตใจ

Law Absolute #3 : Run Quickly or Not at All
ลงมือจัดการทันทีที่เห็นอันตรายเริ่มเคลือบคลานเข้ามาเป็นครั้งแรก
แต่หากพลาดที่จะลงมือแต่เนิ่นๆ จนกระทั้งคนอื่นในตลาดเห็นอันตรายนั้น
กันหมดแล้วก็จงอยู่เฉยๆ เหมือนเดิม หรือมิฉะนั้นก็ปิดสถานะเพียงแค่บางส่วน

Law Absolute #4: เมื่อลังเล ลดสถานะ
หากรู้สึกใจคอไม่ดีกับสถานะที่เปิดอยู่ หรือสถานะใหญ่เกินกว่าที่จะรู้สึกปลอดภัย
ชายคนหนึ่งบอกชายอีกคนหนึ่งว่า เขานอนไม่หลับเลย เพราะสถานะของเขา
ชายอีกคนตอบง่ายๆ ว่า "Sell down to a sleeping point."

กฏของ Watts นั้นมีอะไรที่ลึกซึ้งซ่อนอยู่ระหว่างบรรทัดเยอะ
หลายอย่าง เกิดจากประสบการณ์ที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมามาก
ทำให้มือใหม่ อาจยังเข้าใจไม่ได้ ในทันที ลองค่อยๆ อ่าน
ทำความเข้าใจไปเรื่อยๆ จะได้หลักการอะไรดีๆ หลายอย่าง
มาปรับใช้ให้เราอยู่ในตลาดได้อย่างคนฉลาดมากขึ้น

No comments:

Post a Comment

Custom Search

Followers