Monday, January 4, 2010

เผย 'ปัจจัยเสี่ยง'ที่ต้องจับตาใน'เอเชีย'ปี2010 (1)

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์
4 มกราคม 2553 11:17 น.


รอยเตอร์/ASTVผู้จัดการรายวัน – แม้เอเชียจะเป็นภูมิภาค

ที่สามารถฝ่าคลื่นลมพายุเศรษฐกิจในปี 2009 ไปได้อย่างดี

เป็นพิเศษ แต่เอเชีย จะทำผลงานด้านเศรษฐกิจในปีหน้า

ได้สวยสดงดงามแค่ไหน ที่สำคัญมากๆ ก็ต้องแล้วแต่ว่า

ภูมิภาคแห่งนี้ มีความสามารถเพียงใด ในการกุมทิศทางเดินหน้า

ไปท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงทางการเมืองทั้งหลาย ซึ่งบางปัจจัย

ก็น่าคร้ามเกรงอย่างยิ่งทีเดียว ทั้งนี้ ความเสี่ยงที่สำคัญๆ ได้แก่


**ความสัมพันธ์อันยุ่งยากระหว่างสหรัฐฯ กับจีน**

ในปี 2010 จีนจะเผชิญกับแรงกดดันเพิ่มขึ้นมาก ในเรื่องให้ทำการ

ปรับเพิ่มค่าเงินหยวน ทว่าจีนนั้นย่อมไม่ต้องการให้อัตราเติบโต

ทางเศรษฐกิจ ตกอยู่ในภาวะเสี่ยงภัย จากการยอมปล่อยให้ค่าเงิน

สูงขึ้นเร็วเกินไป และย่อมไม่มีความรู้สึกซาบซึ้งใจเลย จากการถูก

วอชิงตันหรือใครก็ตามทีเซ้าซี้เรียกร้องให้ทำนั่นทำนี่


ขณะเดียวกัน ในสหรัฐฯ เอง กลับมีความรู้สึกกันอย่างแรงกล้าว่า

นโยบาย รักษาค่าเงินหยวน ให้อ่อนตัวเป็นมาตร การกีดกัน

ทางการค้าอย่างหนึ่ง และเป็นสิ่งที่กำลังคุกคาม การฟื้นตัว

ทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯด้วย ดังนั้นสหรัฐฯ จึงอาจตอบโต้จีน

ด้วยการใช้มาตรการจำกัด บีบคั้นทางการค้า ในลักษณะเดียว

กับการตั้งกำแพงภาษีนำเข้ายางรถยนต์จากจีน เมื่อเดือนกันยายน

ที่ผ่านมา อันจะเป็นชนวน ทำให้เกิดสงครามการค้าตอบโต้กัน

ระหว่างสองประเทศ


นอกจากนั้น อันตรายอีกอย่างหนึ่ง ที่อาจเกิดขึ้นได้ก็คือ

การที่ปักกิ่ง หนุนหลังพวกระบอบปกครอง ที่วอชิงตันรู้สึกว่ารับไม่ได้

นี่ก็อาจลุกลาม กลายเป็นการเผชิญหน้ากันทางการเมืองได้เช่นกัน


อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ยังมองว่า ทั้งสหรัฐฯ และจีน

ต่างตระหนักดีถึงความเสี่ยงดังกล่าว และน่าจะยอมถอยออกมา

จากขอบเหวได้ทันก่อนเกิดเหตุพิพาทใดๆ ถึงขั้นคุกคามเป็นอันตราย

ต่อเศรษฐกิจโลก กระนั้น นักวิเคราะห์ก็ชี้ว่า ประเทศทั้งสองจะต้อง

แสวงหาวิธีที่จะสื่อสารกันได้ อย่างสบายอกสบายใจ ในฐานะ

เป็นหุ้นส่วนกัน เพราะความเสี่ยง ที่จะเกิดความไม่เข้าใจกัน

หรือเกิดภาวะความสัมพันธ์แบบเย็นชาต่อกันนั้นมีอยู่จริงๆ


*สิ่งที่ต้องจับตามอง*

-- การต่อสู้กันเรื่องค่าเงินหยวน กล่าวคือ จีนจะยอมปรับเพิ่ม

ค่าเงินหยวนหรือไม่ และหากไม่ สหรัฐฯ จะแสดงอาการโกรธเกรี้ยว

ออกมาหรือไม่ อย่างไร


--การกีดกันทางการค้า และการตั้งกำแพงภาษี หากประธานาธิบดี

บารัค โอบามาประกาศตั้งกำแพงภาษีเพิ่มขึ้น เนื่องจากถูกแรงกดดัน

จากรัฐสภา และพวกอุตสาหกรรมในประเทศ ก็คาดว่าจะเป็นชนวน

ให้ความขัดแย้งบานปลายออกไป

--ทั้งสองจะมีข้อขัดแย้งใดๆ หรือไม่จากการที่จีนเข้าไปเกี่ยวข้อง

กับเกาหลีเหนือ พม่า อิหร่าน และประเทศอื่นๆ ซึ่งสหรัฐฯ

มองว่าเป็น “รัฐอันธพาล”


**อาการ “เมาค้าง” จากมาตรการกระตุ้นศก.ซึ่งรวมทั้ง
“ฟองสบู่ราคาทรัพย์สิน” และ “การควบคุมเงินทุน”**


เอเชียกำลังเป็นภูมิภาค ที่นำหน้าทั่วโลก ในการก้าวพ้น

ออกมาจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย นั่นหมายความด้วยว่า

รัฐบาลของชาติและดินแดนต่างๆ ในเอเชีย ต้องอยู่

ในกลุ่มแรกๆ ที่จะต้องทำการตัดสินใจ ในปัญหาเชิงนโยบาย

อันสำคัญมากๆ ประการหนึ่ง กล่าวคือ จะใช้วิธีการ

อย่างไร มาคาดคำนวณจังหวะอันเหมาะสม ที่จะยกเลิก

หรือลดทอน บรรดามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ได้ช่วยเหลือ

ให้พวกเขา ยังลอยตัวอยู่ได้ ในระหว่างที่ วิกฤตกำลัง

อาละวาดเอากับเศรษฐกิจทั่วโลก


ถ้ารัฐบาลต่างๆ ยกเลิกหรือลดทอนการกระตุ้นเศรษฐกิจ

เร็วเกินไป พวกเขา ก็อาจจะหล่นตุ๊บ กลับลงสู่ภาวะ

เศรษฐกิจชะงักงัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นประเทศจีน

ที่ถลำลง สู่กับดักนี้ด้วยแล้ว ผลกระทบซึ่งมีต่อเศรษฐกิจ

ทั่วโลกก็อาจจะเลวร้ายมาก


แต่ถ้าคงนโยบายเหล่านี้เอาไว้ อย่างผ่อนปรนมากเกินไป

และนานเกินไปแล้ว พวกเขาก็มีความเสี่ยง ไม่เพียงแต่

ในเรื่องที่อัตราเงินเฟ้อ จะพลิกฟื้นขึ้นมา อีกเท่านั้น

หากยังมีความเป็นไปได้ ที่จะเกิดภาวะฟองสบู่ราคาทรัพย์สิน

ที่เป็นความหายนะอันน่าหวาดหวั่น เนื่องจากการปล่อย

ให้มีสภาพคล่อง มีการปล่อยสินเชื่อ อย่างมากมาย

มหาศาลเป็นเวลานานๆ ย่อมจุดชนวนให้เกิดการยื้อแย่ง

ซื้อหา และการเก็งกำไรราคาอสังหาริมทรัพย์และหลักทรัพย์

ทั้งนี้ ข้อกังวลสำคัญที่สุดข้อหนึ่งสำหรับปี 2010 ก็คือ

อันตราย ที่เศรษฐกิจจีน กำลังจะถูกฉุดให้ตกรางจากการที่

ฟองสบู่ทรัพย์สินเกิดแตกระเบิดเปรี้ยงปร้าง


ความเสี่ยงอีกด้านหนึ่ง ซึ่งพวกนักลงทุน ดูจะคอยเฝ้าจับตา

มากกว่าใครเพื่อน ก็คือ การที่ประเทศต่างๆ อาจพยายาม

ป้องกันภาวะฟองสบู่ และพยายามเข้าควบคุมการไหลเข้า

ของ “เงินร้อน” โดยใช้พวกมาตรการควบคุมเงินทุน และ

การพยายามสกัดกั้นไม่ให้เงินลงทุนของต่างชาติไหลออกไป

No comments:

Post a Comment

Custom Search

Followers