Monday, January 4, 2010

มองแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2010

เศรษฐศาสตร์จานร้อน : ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ
กรุงเทพธุรกิจ วันจันทร์ที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2552

ภาครัฐบาลและภาคเอกชนต่างคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทย

ในปี 2010 จะขยายตัวประมาณ 3-4% แปลว่าการหดตัว

ที่เกิดขึ้นในปีนี้ (3%) จะตีกลับมาในปีหน้าหรืออีกนัยหนึ่ง คือ

เศรษฐกิจในปี 2010 จะกลับไปใกล้เคียงกับปี 2008 ในภาพใหญ่

(วัดจากระดับของจีดีพี) แต่จะต่างกันไปในแต่ละภาคธุรกิจ

และอุตสาหกรรม เช่นปี 2010 หนี้สาธารณะจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก

(จาก 38% เป็นกว่า 50% ของจีดีพี) ดังนั้น ผู้ประกอบการที่ขายสินค้า

และบริการให้กับรัฐบาล ก็น่าจะฟื้นตัวได้ดีกว่าส่วนอื่นๆ เป็นต้น


โดยรวมแล้วการที่เศรษฐกิจจะขยายตัวเพียง 3-4% นั้น

ไม่น่าจะเป็นเรื่องยากเพราะในอดีตเศรษฐกิจไทยสามารถ

ขยายตัวได้ 6-7% ต่อปีอย่างต่อเนื่องในปีที่เศรษฐกิจโลก

ฟื้นตัวเช่นที่คาดการณ์กันเอาไว้ในปีหน้านั้น เศรษฐกิจไทย

น่าจะสามารถขยายตัวได้ 5-6% แต่ทำไมการคาดการณ์

ส่วนใหญ่จึงต่ำกว่าระดับดังกล่าวอย่างมาก คำตอบคือ

ความไม่แน่นอนว่ารัฐบาลจะแก้ปัญหามาบตาพุดให้สำเร็จ

ลุล่วงโดยเร็วจะเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนการลงทุน

ของไทยในอุตสาหกรรมต้นน้ำ ซึ่งย่อมจะส่งผลต่อการดึงดูด

การลงทุนในอนาคตในอุตสาหกรรมปลายน้ำต่างๆ

และจะส่งผลเป็นตัวต่อธุรกิจเกี่ยวเนื่องอื่นๆ ทั้งการก่อสร้าง

การจ้างงาน การใช้จ่ายของประชาชน ฯลฯ


ในอีกด้านหนึ่ง คือ ปัญหาความแตกแยกทางการเมือง

ซึ่งจะนำไปสู่ความขัดแย้งกันทั้งในสภา (การอภิปรายไม่ไว้วางใจ)

และนอกสภา (การเดินขบวนต่อต้านรัฐบาลของคนเสื้อแดง)

ตลอดจนการจะต้องปรับ ครม. ที่ล้วนจะทำให้ขาดความชัดเจน

ซึ่งจะส่งผลให้นักลงทุนต้องการเพิ่มความระมัดระวัง และชะลอการลงทุน


อย่างไรก็ดี ดูเสมือนว่าปัญหาต่างๆ ของไทยนั้น

น่าจะเกิดขึ้นในช่วงปลายเดือนมกราคมถึงต้นเดือนกุมภาพันธ์

และหากมีปัญหายืดเยื้อก็น่าจะมีความชัดเจนตั้งแต่กลางปี

เป็นต้นไป ดังนั้น จึงเป็นไปได้ว่าครึ่งหลังของปีหน้า

จะมีความชัดเจนมากกว่าครึ่งแรกของปี ทั้งนี้ ผมมิได้ต้องการ

จะขัดแย้งกับคำทำนายของโหรหรือหมอดูแต่อย่างใด กล่าวคือ

แนวโน้มเศรษฐกิจไทยมีความเป็นไปได้มากว่าครึ่งแรก

จะมีความเสี่ยงและมีความไม่แน่นอนสูงจากปัจจัยลบภายในประเทศ

แต่ครึ่งหลังเหตุการณ์สามารถคลี่คลาย ทำให้บรรยากาศดีขึ้นตามลำดับ


ตรงกันข้ามกับเศรษฐกิจโลก ซึ่งนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เห็นว่า

การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะยิ่งมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้นในปี 2010

แม้ว่าจะยังต้องพึ่งพาแรงกระตุ้นจากภาครัฐ พร้อมกับนโยบาย

การเงินที่ผ่อนคลายอย่างต่อเนื่อง โดย เศรษฐกิจประเทศ

พัฒนาแล้วจะกระเตื้องขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ (คือ เศรษฐกิจสหรัฐ

ขยายตัว 3% ในขณะที่เศรษฐกิจยุโรปและญี่ปุ่นขยายตัว 1-2%)

และเศรษฐกิจประเทศกำลังพัฒนาหลัก อาทิเช่น จีนและอินเดีย

จะขยายตัว 7-10% แต่ข้อสังเกตของผมคือ การขยายตัวดังกล่าว

หากเป็นจริงก็จะทำให้เกิดเงื่อนไขในครึ่งหลังของปี ว่า

นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ จำเป็นจะต้องเริ่มผ่อนคลาย

ลงมากน้อยเพียงใด หมายความว่า สำหรับประเทศพัฒนาแล้ว

ที่ธนาคารกลางลดดอกเบี้ยลงใกล้ศูนย์ ก็จะต้องเริ่มปรับนโยบาย

เป็นขึ้นดอกเบี้ย และลดมาตรการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าระบบ

(quantitative easing) อาทิเช่น เมอร์ริล ลินช์ คาดการณ์ว่า

ธนาคารกลางยุโรปจะต้องปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้น 0.25%

ในเดือนมิถุนายน ในขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐก็กำหนดว่า

จะยกเลิกมาตรการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าระบบเกือบทั้งหมด

(เว้นแต่การซื้อตราสารหนี้ค้ำประกันด้วยอสังหาริมทรัพย์ค้ำ

มูลค่าประมาณ 1 ล้านล้านดอลลาร์) ภายในครึ่งแรกของปี 2010

นอกจากนั้น ยังเห็นได้ว่าผลตอบแทนหรือดอกเบี้ยพันธบัตร

ระยะยาวของสหรัฐ กำลังปรับขึ้นไปเรื่อยๆ ซึ่งเป็นการสะท้อน

การคาดการณ์ของนักลงทุน ว่า เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง

ทำให้เชื่อได้ว่าอัตราเงินเฟ้อจะปรับตัวเพิ่มขึ้นในอนาคต


สำหรับประเทศกำลังพัฒนาหลัก อาทิเช่น จีน และอินเดีย

ก็จะเห็น เศรษฐกิจขยายตัวอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องใน

ครึ่งแรกของปี 2010 เพราะการฟื้นตัวของการส่งออก

(จากการฟื้นตัวของอุปสงค์จากประเทศพัฒนาแล้ว) ประกอบ

กับแรงกระตุ้นภายในประเทศที่ยังมีแรงเหวี่ยง (momentum)

ต่อเนื่องจากปีนี้ แต่การขยายตัวที่ร้อนแรงดังกล่าวจะกลาย

เป็นความกังวลใจว่าปัญหาฟองสบู่ของราคาสินทรัพย์กำลัง

ก่อตัวขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากประเทศจีนยังตรึงค่าเงิน

หยวนกับดอลลาร์ที่อัตราปัจจุบัน หมายความว่าในครึ่งหลัง

ของปีหน้านักลงทุนอาจหันมาเป็นห่วงว่ารัฐบาลจีน

(และรัฐบาลประเทศเอเชียอื่นๆ) จะต้องออกนโยบายเพื่อ

ชะลอเศรษฐกิจมากน้อยเพียงใด และมาตรการดังกล่าว

จะกระทบต่อตลาดหุ้นมากน้อยเพียงใด


ในทำนองเดียวกันในครึ่งแรกของปีหน้าการฟื้นตัว

ของเศรษฐกิจของประเทศพัฒนาแล้ว จะเป็นที่พึงพอใจ

ของนักลงทุน แต่ในครึ่งหลังของปีก็อาจมีความเห็น

แบ่งกันเป็น 2 ฝ่าย โดยฝ่ายหนึ่งเชื่อว่าภาครัฐจะต้อง

กระตุ้นเศรษฐกิจต่อไป เพราะการฟื้นตัวของภาคเอกชน

ยังไม่มั่นคงเพียงพอ และไม่อยากให้กลัวปัญหาเงินเฟ้อ

แต่อีกฝ่ายหนึ่งจะเป็นห่วงเกี่ยวกับปัญหาเงินเฟ้อ และ

การใช้จ่ายเกินตัวของภาครัฐ ทั้งนี้ สิ่งที่จะเป็นเครื่องตัดสิน

คือข้อมูลในขณะนั้น อาทิเช่น การเร่งตัวขึ้นของเงินเฟ้อ

และปัญหาฟองสบู่ในราคาสินทรัพย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง

ในภูมิภาคเอเชีย จึงสรุปได้ว่าแนวโน้มของการลงทุน

ในภาพรวมของโลกจะสดใสมากในครึ่งแรกของปี

แต่ความไม่แน่นอนและข้อกังวลต่างๆ น่าจะมีเพิ่มขึ้น

ในครึ่งหลังของปี ทั้งนี้ จะยังมีความเสี่ยงข้างเคียงอื่นๆ

อาทิเช่น ปัญหาความสามารถในการชำระหนี้ของประเทศ

ขนาดเล็ก อาทิเช่น ดูไบและกรีซ และปัญหาการกีดกัน

ทางการค้าจากประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งเผชิญกับปัญหา

การว่างงานที่รุนแรงและต่อเนื่อง โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา

ที่จะมีการเลือกตั้งในปลายปีหน้าและอังกฤษ ซึ่งนายกรัฐมนตรี

น่าจะต้องประกาศยุบสภาเลือกตั้งทั่วไปในปี 2010 เช่นกัน

No comments:

Post a Comment

Custom Search

Followers